Come and enjoy lovely coffee shop and restaurant with great breeze of Chao Phraya River plus lush green garden,near Rama V bridge and Nonthaburi Pier ร้านกาแฟ เบเกอรี่ อาหารกลางวัน ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ช่วงสะพานพระราม5 และท่าน้ำนนท์ บรรยากาศสไตล์บ้านสวน ชมวิวรับลมแม่น้ำ

วันศุกร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2556

Tales of Music and the Brain

            หนังสือ Musicophilia ของ Oliver Sacks  เล่าเรื่องอาการความจำเสื่อม (amnisia) ได้น่าสนใจ  ทำให้เราเข้าใจอาการความจำเสื่อมและผู้ป่วยความจำเสื่อมได้มากขึ้นและชัดเจนขึ้นด้วยว่า ที่ว่าเสื่อมนั้นคืออะไรกันแน่  โอลิเวอร์ แซ็คส์ เป็นจิตแพทย์ เคยเขียนเกี่ยวกับผู้ป่วยโรคพาร์กินสันในเรื่อง Awakenings ที่สร้างเป็นภาพยนต์แสดงโดย โรบิน วิลเลียมส์และโรเบิร์ต เดอ นีโร
            แซ็คส์เล่าเรื่องนักประพันธ์เพลงและวาทยากรชื่อ ไคลฟ์ ที่ป่วยด้วยไข้สมองอักเสบ  หลังจากฟื้นไข้เขากลายเป็นคนความจำเสื่อม  จำทั้งอดีตและเรื่องใหม่ๆ ไม่ได้  เขาใช้ชีวิตเช่นปกติไม่ได้จนต้องไปอาศัยอยู่ในสถาบันที่รับผู้พิการทางสมองเอาไว้  ไคลฟ์ลืมเนื้อหาหนังสือทันทีที่อ่าน  เพียงพลิกหน้าถัดไปหรือกะพริบตา  เขาจะถือหนังสือเล่มเดิมและบอกว่าเป็นหนังสือเล่มใหม่  ไคลฟ์จำภรรยาสุดที่รักไม่ได้  ซึ่งภรรยาเขายังคงดูแลใกล้ชิดตลอดเวลายี่สิบปีที่เขาป่วย ไปเยี่ยมเยียนสม่ำเสมอที่สถาบัน เขาจำอะไรเกี่ยวกับภรรยาไม่ได้เลย แต่รับรู้ได้ว่ามีความผูกพันบางประการ  ไม่รู้ว่ามาเยี่ยมถี่แค่ไหนเพราะเขาลืมทุกอย่างทันทีที่เธอกลับไป ไม่เคยรับรู้ว่าเธอมาเยี่ยมเป็นพันๆ ครั้ง ไคลฟ์จะโทรมาหาและบอกว่าไม่ได้พบเธอนานแล้วอยากให้มาหาเร็วที่สุด  เขาดีใจที่มีผู้หญิงคนนี้มาเยี่ยม เศร้าใจเมื่อหายไป  ดีใจอีกเมื่อเธอโผล่หน้ามาที่ประตูอีกแม้ว่าจะไม่รู้ว่าเธอออกไปเมื่อไร  "เขาอยู่กับคนแปลกหน้าในสถานที่ใหม่ตลอดเวลา"  "ทุกครั้งที่ฉันไปหา เขาจะเข้ามาใกล้ชิด ซบฉันและร้องไห้"
            เขายังช่วยเหลือตัวเองได้ในกิจวัตรประจำวันแต่ไม่รู้ว่าทำไปหรือยัง กินมื้อไหน แต่งตัวจะไปไหนหรือไม่ไปไหน  ความจำเกี่ยวกับความหมายของคำ (Semantic memory) ต่างจากความทรงจำเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง (Explicit memory) และแตกต่างจากความทรงจำเกี่ยวกับเหตุการณ์ในอดีตแต่ละช่วง (Episodic memory)   การแพทย์พบว่าลำพัง Semantic memory ที่ไม่มี Explicit memory และ Episodic memory ร่วมด้วยนั้นแทบจะไม่สามารถพาชีวิตให้เดินไปอย่างมีจุดมุ่งหมายได้เลย  เขาพูดได้แต่ถ้าถูกขัดจังหวะก็จะลืมและเปลี่ยนเรื่องพูดทุกครั้ง  เขามักพูดคนเดียวและเปลี่ยนเรื่องไปได้เรื่อยๆ โดยไม่รู้ตัว  ซึ่งสำคัญมากที่จะต้องรู้ว่าเขาพูดจาลักษณะนั้นเพราะความจำเสื่อม ไม่ใช่โรคจิต  เพราะหากวินิจฉัยผิดและจ่ายยาโรคจิต จะทำให้อาการทรุดลงเนื่องจากฤทธิ์ข้างเคียงของยา
            คำถามคือ ไคลฟ์จำผู้หญิงคนนี้ได้อย่างไร   คำตอบคือ เขามีสิ่งที่เรียกว่า Emotional memory คือ ความจำเกี่ยวกับอารมณ์  เช่นเดียวกับทารกในทฤษฏีของ ซิกมันด์ ฟรอยด์ ที่เชื่อว่าทารกจำเหตุการณ์ไม่ได้ก็จริง แต่มี Emotional memory ฝังลึกลงในจิตใต้สำนึกและจะกลายเป็นหางเสือคัดท้ายชีวิตที่เหลือในภายภาคหน้า  ปัจจุบันเราเชื่อว่ามันฝังลงในส่วนที่ลึกที่สุดของบริเวณสมองที่เรียกว่าลิมบิก Limbic system ที่ที่ไม่มีโรคอะไรจะเข้าไปทำลายได้โดยง่าย
            การทดลองที่มีชื่อเสียงทำโดยนายแพทย์ชาวสวิส ชื่อ Edouard Claparede ในปี 1911 เขาซ่อนเข็มไว้ในมือ แล้วเดินจับมือกับผู้ป่วยที่ความจำเสื่อมจากพิษเหล้า  พบว่าผู้ป่วยเหล่านี้จำไม่ได้ว่าเกิดอะไรขึ้น แต่ไม่มีใครยอมจับมือกับเขาอีกเลย
            ไคลฟ์ล้มป่วยเพียงไม่กี่ปีหลังแต่งงาน  ความรักของคนทั้งสองดูดดื่มยังไม่จางและความหลงใหลในดนตรีของทั้งสองเป็นประสบการณ์ร่วมที่พิเศษอีกชั้นหนึ่ง  นั่นทำให้ภรรยาเป็นคนสำคัญต่ออารมณ์ของไคลฟ์เสมอ  ไคลฟ์สามารถสัมผัสกลิ่นกายของเธอในอดีตและผูกพันกับบรรยากาศแห่งความรักรอบตัวคนทั้งสองในเวลานั้นซึ่งก็ไม่รู้ว่าเป็นเวลาไหน
            ที่น่าประหลาดใจมากที่สุดคือ ไคลฟ์ยังเล่นเปียโนหรือคีย์บอร์ดได้ไม่มีที่ติ  เขาบรรเลงเพลงคลาสสิคที่ชอบได้เป็นเลิศไม่ผิดเพี้ยน  และมีความสุขล้นเหลือกับการทำเช่นนั้นร่วมกับผู้หญิงคนนั้น
            การเล่นดนตรีเป็นส่วนหนึ่งของความจำที่เรียกว่า Implicit memory  อาจแปลได้ว่าเป็นความทรงจำจากภายใน  นักปรัชญาด้านดนตรีเชื่อว่า การได้ยินเสียงท่วงทำนองของดนตรีที่แท้ไม่ใช่ "ได้ยินท่วงทำนอง" (hearing of a melody) แต่เป็น "ได้ยินไปด้วยกันกับท่วงทำนอง" (hearing with memory)  นั่นคือ ดนตรีไม่ใช่ของแปลกปลอม แต่ดำเนินไปด้วยกันกับชีวิตหรือตัวตนซึ่งภาษาทางจิตวิทยาเรียกว่า self  ไคลฟ์สูญเสียความจำทั้งหมด แต่เขาไม่สูญเสียตัวตน คือ self  

              ไคลฟ์ ไม่มีอดีต ไม่มีอนาคต มีเพียงปัจจุบัน ซึ่งหายไปได้ทุกเวลาแม้เพียงกะพริบตา  ดนตรีเป็นอะไรบางอย่างที่ทำให้เขาอยู่กับปัจจุบันได้นาน  
         นี่คือชีวิตของคนที่ความจำเสื่อม 
         และความสำคัญของดนตรีที่มีต่อชีวิต

ความรู้ทางวิชาการ จาก โรคจิตที่รัก,  ป่วยแค่กาย...แต่ใจยิ้ม 
โดย น.พ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

 
Plantilla Minima modificada por Urworstenemy