Come and enjoy lovely coffee shop and restaurant with great breeze of Chao Phraya River plus lush green garden,near Rama V bridge and Nonthaburi Pier ร้านกาแฟ เบเกอรี่ อาหารกลางวัน ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ช่วงสะพานพระราม5 และท่าน้ำนนท์ บรรยากาศสไตล์บ้านสวน ชมวิวรับลมแม่น้ำ

วันพฤหัสบดีที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2556


คุณค่าถั่วเหลือง กับสุขภาพไทย (2)

             ถั่วเหลืองเป็นแหล่งโปรตีนที่น่าสนใจ ถ้าอย่างนั้นผลิตภัณฑ์ถั่วเหลืองน่าจะเป็นแหล่งโปรตีนเสริมที่ดีสำหรับประเทศจนๆ อย่างประเทศไทยได้หรือไม่ ?
             ก่อนอื่นพิจารณาผลิตภัณฑ์กันก่อน  ถั่วเหลืองสามารถดัดแปลงได้หลายรูปแบบ ได้แก่ นมถั่วเหลือง ถั่วงอก เต้าหู้ ฟองเต้าหู้ เต้าฮวย เต้าเจี้ยว ซีอิ๊ว น้ำมันถั่วเหลืองและกากถั่วเหลือง เป็นต้น  เราต้องรู้จักลักษณะเด่นของผลิตภัณฑ์แต่ละอย่างและเลือกใช้ให้เหมาะ
             นมถั่วเหลือง เป็นผลิตภัณฑ์อันดับแรกๆ ของถั่วเหลืองที่เราคุ้นเคยที่สุด เพราะสามารถทำได้เองที่บ้านหรือหาซื้อได้ตั้งแต่หน้าปากซอยไปจนถึงผลิตเป็นเครื่องดื่มชนิดขวด ชนิดกล่องและยังมีที่เป็นผงพร้อมชงดื่ม คุณค่าของนมถั่วเหลืองถ้าจะเปรียบเทียบแล้วก็ไม่พ้นที่จะต้องเปรียบเทียบกับนมแม่ นมวัวและไข่ไก่



             จากข้อมูลในตารางนี้มีข้อสังเกตคือ
             1. นมแม่เป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารก เพราะสร้างสรรค์มาโดยธรรมชาติให้มีสัดส่วนเหมาะสมกับลูกคน
             2. สำหรับเด็กเล็กเด็กโตและผู้ใหญ่ ไขมันของนมวัวมีมากกว่านมถั่วเหลือง แต่ไขมันในนมวัวเป็นคอเลสเตอรอลและกรดไขมันอิ่มตัวซึ่งยากหลีกเลี่ยง  ไขมันในนมถั่วเหลืองไม่มีคอเลสเตอรอลและส่วนมากเป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัวช่วยลดคอเลสเตอรอลได้
              3. แคลอรีของนมวัวที่เห็นว่าสูงกว่านมถั่วเหลือง เป็นแคลอรี่ที่ได้มาจากไขมันเป็นตัวเด่น ซึ่งเป็นสารไม่พึงประสงค์ในยุคคนอ้วนและมีโรคไขมันในเลือดสูงอยู่แล้ว  ปัจจุบันคนไทยมีภาวะไขมันในเลือดสูงแล้วประมาณ 50% ของประชากร แถมงานวิจัยของ น.พ.ประสงค์ เทียนบุญ วิจัยในเด็กนักเรียนโรงเรียนเอกชนที่เชียงใหม่พบความจริงอันน่าพรั่นพรึงว่า :
             เด็กอายุต่ำกว่า 6 ปีมีคอเลสเตอรอลสูง 25%(ถ้าถือ 170 ม.ก.% สำหรับเด็ก) และสูง 5% (ถ้าถือ 200 ม.ก.%)  เด็กอายุ 6-15 ปีมีคอเลสเตอรอลสูง 70%(ถ้าถือ 170 ม.ก.% สำหรับเด็ก) และสูง 10-20%(ถ้าถือ 200 ม.ก.%)  เด็กเหล่านี้กินดื่มอะไรบ้าง คำตอบก็คือ เด็กโตกินฟาสต์ฟู้ดและดื่มนม เด็กเล็กกว่า 6 ปียังไม่ทันกินฟาสต์ฟู้ดแน่ แต่ดื่มนม   และความเป็นจริงก็คือหลายๆ บ้านให้เด็กดื่มนมวัวต่างน้ำ   เราพึงรู้ไว้ว่าภาวะไขมันเลือดสูงในเด็กเหล่านี้ถ้าไม่รีบแก้ไขก่อนอายุ 15 ปี  หลอดเลือดจะมีรอยจับคราบไขมันเป็นการถาวร  ดังนั้น เมื่อโตขึ้นก็ตามมาด้วยภาวะไขมันเลือดสูงทันที  แล้วก็ตามด้วยโรคหัวใจอัมพาตได้โดยไมทันจะแก่
             ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจจาก ศ.น.พ.สุขสวัสดิ์ เพ็ญสุวรรณ อาจารย์อาวุโสทางด้านต่อมไร้ท่อและโรคเบาหวาน ท่านให้ความเห็นว่า "คนไข้เบาหวานที่มารักษากับผม รายไหนรายนั้นถ้าไม่เลิกดื่มนมวัวจะไม่สามารถควบคุมเบาหวานได้ นั่นคงเป็นเพราะแคลอรี่จากนมที่มีสูงมาก"
             4. สัดส่วนโปรตีนในนมถั่วเหลืองมีน้อยกว่านมวัว ต่างกันไม่มาก นมวัว 1 แก้วให้โปรตีน 8.5 กรัมขณะที่นมถั่วเหลือง 1 แก้วให้โปรตีน 7 กรัม ไม่ด้อยกว่ากันนัก  ยิ่งถ้าเทียบกับสนนราคาไม่ว่าจะด้วยการเปรียบเทียบนมกล่องที่มาขายกันอยู่ในท้องตลาดหรือจะเปรียบเทียบในทางเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ  ในเชิงที่ว่าเราจะพัฒนาแหล่งโปรตีนราคาถูกที่เกษตรกรของเราอยู่ในวิสัยที่จะปลูกได้ถ้าได้รับการส่งเสริมและพัฒนาการตลาดให้เทียบกับที่ต้องซื้อนมวัวจากเมืองนอกเข้ามา
             อนึ่ง โปรตีนที่จะส่งเสริมร่างกายเราควรดูดซึมง่าย ซึ่งข้อเท็จจริงพบว่าโปรตีนในถั่วเหลืองชนชาวเอเชียดูดซึมได้โดยปกติ  เพราะชนชาติต่างๆ ในภูมิภาคนี้กินกันอยู่เป็นประจำ  ขณะที่โปรตีนจากนมวัว(มิใช่เพียงแล็กโตสในนม) ร่างกายคนเอเชียดูดซึมยาก มักมีอาการท้องเสีย
             เรื่องภาวะแพ้นมวัว ศ.น.พ.สุขสวัสดิ์ให้ข้อเท็จจริงต่อไปว่า "ผมเคยทำงานวิจัยชิ้นหนึ่งในอาสาสมัครที่เป็นพลทหาร  ให้พวกเขาดื่มนมแล้วส่องกล้องดูเยื่อบุลำไส้ของอาสาสมัครเหล่านี้ ปรากฏผลว่าทั้ง 100% มีเยื่อบุลำไส้บวมกันทั้งนั้น"  นั่นแสดงถึงภาวะภูมิแพ้ของคนไทยต่อการดื่มนมวัว เพียงแต่บางคนแสดงอาการท้องเสีย บางคนไม่แสดงอาการ
             5. แคลเซียมในนมถั่วเหลืองมีน้อย จึงไม่อาจพึ่งพานมถั่วเหลืองในเรื่องของแหล่งแคลเซียม แต่ผลิตภัณฑ์ถั่วเหลืองอันได้แก่ เต้าหู้ กลับเป็นแหล่งแคลเซียมที่ดีเพราะเต้าหู้ 1 แผ่น(100 กรัม) ให้แคลเซียม 250 ม.ก.เท่ากับนมวัว 1 แก้ว
           อย่างไรก็ดี โดยสภาวะที่เป็นจริงคนไทยยังไม่ถึงภาวะที่ต้องตื่นเต้นตูมตามในเรื่องขาดแคลเซียมอย่างชาวตะวันตก เพราะแท้ที่จริงปัญหากระดูกพรุนในคนไทยวัยสูงอายุแม้จะมีมากขึ้นกว่าสมัยก่อน แต่ถ้าเทียบกับชาวตะวันตกก็ห่างไกลกันหลายขุม
             ข้อเท็จจริงจากอัตราต่อ 100,000 ของประชากร เปรียบเทียบระหว่างชาวอเมริกันกับคนไทยที่กระดูกหักจากภาวะกระดูกพรุนเมื่อสูงอายุพบว่า ชาวอเมริกันมี 650 คนต่อแสนต่อปี (Catherine Woteki. Institute of Medicine, National Academy of Science. 1992)  ขณะที่คนไทยอายุต่ำกว่า 75 ปีมี 16.3 คนต่อแสนต่อปี (ฉัตรเลิศ พงศ์ไชยกุล คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 1998)  รวมแล้วคนอเมริกันกระดูกผุมากกว่าคนไทยประมาณ 10 เท่า
             นี่เป็นข้อเท็จจริงในท่ามกลางภาวะที่คนอเมริกันแต่ไหนแต่ไรมาดื่มนมกันอย่างเต็มที่   และคนไทยดื่มนมวัวน้อยกว่ากันมากนัก  แปลไทยเป็นไทยก็คือ นมวัวซึ่งเป็นสรณะของฝรั่งที่บอกว่าเป็นแหล่งของแคลเซียมจะช่วยพวกเขาให้พ้นจากโรคกระดูกพรุน และมาสั่งมาสอนคนไทยให้ดื่มนมตามอย่างพวกเขานั้นเอาเข้าจริงๆ แล้วไม่ได้ช่วยพวกเขาได้จริงตามราคาคุย   ส่วนคนไทยไม่ค่อยได้ดื่มนมมาแต่ไหนแต่ไรโรคกระดูกพรุนกลับพบน้อยกว่า  ดังนั้น การจะเอาสูตรการดื่มนมแก้โรคกระดูกพรุนที่พวกเขาเองยังใช้ไม่ได้ผลมาให้คนไทย จึงไม่สมเหตุสมผลด้วยประการทั้งปวง
            ปัญหาสุขภาพของประเทศใด ก็ต้องพิเคราะห์ให้เหมาะสมกับแต่ละประเทศ ลอกเลียนกันเป็นสูตรสำเร็จไม่ได้  ติดตามตอนต่อไปครับ   คนไทยเวลานี้สิ่งน่าเป็นห่วงคือ ภาวะขาดความคุ้มครองทางสุขภาพของผู้บริโภค เราถูกเล่ห์กลหลอกล่อให้บริโภคสารพัด  บางทีก็โดนปฏิชีวนะตกค้าง บ้างก็โดนฮอร์โมน เจอสารแต่งสีแต่งกลิ่น เจอผงชูรสบนหมูปิ้ง ไส้กรอกย่าง กลายเป็นสารก่อมะเร็ง  ทำอย่างไรจะคุ้มครองสุขภาพผู้บริโภคจึงเป็นปัญหาที่ต้องคิด


ความรู้จากคอลัมน์ธรรมชาติบำบัด โดย น.พ.บรรจบ ชุณหสวัสดิกุล, มติชนสุดสัปดาห์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

 
Plantilla Minima modificada por Urworstenemy