Come and enjoy lovely coffee shop and restaurant with great breeze of Chao Phraya River plus lush green garden,near Rama V bridge and Nonthaburi Pier ร้านกาแฟ เบเกอรี่ อาหารกลางวัน ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ช่วงสะพานพระราม5 และท่าน้ำนนท์ บรรยากาศสไตล์บ้านสวน ชมวิวรับลมแม่น้ำ

วันอังคารที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2556


          "หัวใจมีเหตุผล  ที่เหตุผลไม่รู้จัก"
Blaise Pascal แบลซ ปัสกาล นักคณิตศาสตร์ นักฟิสิกส์ นักปรัชญาชาวฝรั่งเศสผู้เคร่งครัดศาสนา

                  ...เมื่อทุกคำถามไม่ต้องมีคำตอบเดียว  
            หลักของเหตุผลก็ไม่จำเป็นต้องมีแบบเดียว

             "หัวใจ" ก็มีเหตุผลแบบหนึ่งที่ "สมอง" ไม่รู้จัก  
          เป็น "เหตุผล" ที่ไม่ตรงกับหลักของเหตุผลทั่วไป...

           ถ้าโลกนี้มีหลักการในการตัดสินใจอยู่สองอย่าง คือ "เหตุผล" และ "ความรู้สึก"
คนส่วนใหญ่มักเทคะแนนให้กับ "เหตุผล"  เพราะเหตุผลจะทำให้เราวัดข้อดีข้อเสียของแต่ละทางเลือกได้อย่างมีตรรกะ  แต่ความรู้สึกไม่มีตรรกะอะไรรองรับ  มีเพียงอารมณ์   "ชอบ ไม่ชอบ"  หรือ  "อยากทำ ไม่อยากทำ"  ไม่มีเหตุผลเลย
            ดังนั้น เราจึงมักสรุปว่าการตัดสินใจของคนเราต้องใช้  "เหตุผล" มากกว่า "ความรู้สึก"  ฟังดูแล้วมีเหตุผลใช่ไหมครับ  แต่ผมมีเรื่องเล่าสองเรื่องจะเล่าให้ฟัง
            เรื่องแรก  สมมุติว่าถ้าคุณมีทางเลือกสองทาง 
            ทางแรก  วันที่ 1 มีนาคม  คุณต้องทำงานเพิ่มขึ้นจากเดิมอีก 3 ชั่วโมง
            ทางเลือกที่สอง  วันที่ 15 มีนาคม คุณต้องทำงานเพิ่มขึ้นจากเดิม 4 ชั่วโมง  คุณจะเลือกทางไหน
            ผมเชื่อว่าคนส่วนใหญ่จะเลือก "ทางที่หนึ่ง"  เพราะด้วยหลักของเหตุผลแล้วคงไม่มีใครอยากทำงานหนัก  เพิ่ม 3 ชั่วโมงย่อมดีกว่า 4 ชั่วโมง
            แต่เชื่อไหมครับ ผลการวิจัยของมหาวิทยาลัยชื่อดังของสหรัฐอเมริกา บอกว่ามีคนจำนวนมากที่เลือกทางที่สอง คือ ทำงานเพิ่มขึ้น 4 ชั่วโมง
            ตัวแปรก็คือ เขาเจอคำถามนี้วันไหน
            ถ้าถามตั้งแต่เดือนมกราคม  สองเดือนล่วงหน้าก่อนจะทำงานเพิ่มจริง  คนจะใช้ "เหตุผล" ในการตอบ  ใครๆ ก็อยากทำงานเพิ่มน้อยที่สุด
            แต่ถ้าเราต้องตอบคำถามนี้ในวันที่ 1 มีนาคมเลย  ทางเลือกยังคงมีสองทางเหมือนเดิม  ถ้าเลือกทางที่หนึ่งจะต้องทำงานเพิ่ม 3 ชั่วโมง คือ "วันนี้" เลย  แต่ถ้าทางเลือกที่สอง จะต้องทำงานเพิ่ม 4 ชั่วโมงในอีก 15 วันต่อมา
            เชื่อไหมครับ เมื่อเจอสถานการณ์แบบนี้  พลังแห่ง "เหตุผล" จะลดลง  และพลังแห่ง "ความรู้สึก" จะมาแรงแซงโค้ง  ผลวิจัยบอกว่าคนส่วนใหญ่จะเลือกข้อ 2  ไม่ยอมทำงานหนักในวันนี้  ขอเลื่อนไปอีก 15 วัน  แม้จะต้องทำงานหนักมากกว่าวันนี้ก็ยอม  
            คนส่วนใหญ่เลือกมีความสุขในวันนี้  ส่วนความทุกข์นั้น ขอตีเช็คล่วงหน้า 15 วัน

            เรื่องที่สอง เป็นเรื่อง "ความรัก"

            มีคนเคยบอกว่า แม้จะหา "เหตุผล" ที่ดีที่สุดเท่าที่โลกนี้พึงมี  แต่ถ้าปราศจาก "ความรู้สึก" เหตุผลนั้นก็ไม่สามารถใช้กับ "ความรัก" ได้  เพราะ 
              "ความรัก" เป็นเรื่อง  "ความรู้สึก" ครับ  ไม่ใช่  "เหตุผล"
                      ไม่มีเหตุผลว่า เราควรจะรัก หรือ ควรจะไม่รักใคร
                        มีแต่รู้สึก "รัก"  หรือ  "ไม่รัก"
        แต่มีอีกคนหนึ่งแย้งว่า ที่คิดกันแบบนี้เพราะเราแยกคำว่า "เหตุผล" กับ "ความรู้สึก" ออกจากกันอย่างสิ้นเชิง  เหมือน "น้ำ" กับ "น้ำมัน"  อยู่กันคนละขั้ว อยู่กันคนละชั้นวรรณะ ไม่สามารถรวมกันได้เลย  เขาบอกว่าตรรกะแบบนี้ "ผิด"
            เพราะแท้จริงแล้ว  "ความรู้สึก" กับ "เหตุผล"  ไม่ได้แยกขาดจากกันโดยสิ้นเชิง

                     "ความรู้สึก"  คือ "เหตุผล"  อย่างหนึ่ง

            เพียงแต่เป็น "เหตุผล" ที่มาจากอวัยวะเล็กๆ ขนาดเท่ากำปั้นที่อยู่ตรงหน้าอกข้างซ้าย ที่เรียกกันว่า  "หัวใจ"  ไม่ใช่เหตุผลจาก "สมองซีกซ้าย" เท่านั้นเอง
            ในโลกแห่งความเป็นจริง  เราคงไม่สามารถใช้ "ความรู้สึก" ตัดสินใจทุกเรื่อง  หรือใช้ "เหตุผล" กับทุกสิ่ง   บางเรื่องต้องใช้ "เหตุผล"  บางเรื่องต้องใช้ "ความรู้สึก"
            แต่เรามักจะใช้  "เหตุผล"  ในการตัดสินใจมากเกินไป  จนบางครั้งละเลยหรือลืม "ความรู้สึก" ของตัวเรา   ผมเองก็เป็นแบบนี้บ่อยๆ  ลืมความปรารถนาหรือความต้องการที่แท้จริงของเรา

            ทั้งที่ "ความรู้สึก" เป็น "เหตุผล" ที่มีพลังอย่างยิ่ง

      ถ้า "สมอง" มีรอยหยักที่แสดงถึงความฉลาดและ "เหตุผล"
                         "หัวใจ" ก็มีรอยยิ้มที่แสดงถึงความสุข
               การตัดสินใจด้วยสมองที่ไม่ลืมความรู้สึกของหัวใจ
                      เราจะได้ความสำเร็จที่เปี่ยมด้วยความสุข

จาก  คำนำผู้เขียน,  ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ 19   ความรู้สึก คือเหตุผลอย่างหนึ่ง 
โดย 'หนุ่มเมืองจันท์'




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

 
Plantilla Minima modificada por Urworstenemy