Tales of Music and the Brain
หนังสือ Musicophilia ของ Oliver Sacks เล่าเรื่องอาการความจำเสื่อม (amnisia) ได้น่าสนใจ ทำให้เราเข้าใจอาการความจำเสื่อมและผู้ป่วยความจำเสื่อมได้มากขึ้นและชัดเจนขึ้นด้วยว่า ที่ว่าเสื่อมนั้นคืออะไรกันแน่ โอลิเวอร์ แซ็คส์ เป็นจิตแพทย์ เคยเขียนเกี่ยวกับผู้ป่วยโรคพาร์กินสันในเรื่อง Awakenings ที่สร้างเป็นภาพยนต์แสดงโดย โรบิน วิลเลียมส์และโรเบิร์ต เดอ นีโร
แซ็คส์เล่าเรื่องนักประพันธ์เพลงและวาทยากรชื่อ ไคลฟ์ ที่ป่วยด้วยไข้สมองอักเสบ หลังจากฟื้นไข้เขากลายเป็นคนความจำเสื่อม จำทั้งอดีตและเรื่องใหม่ๆ ไม่ได้ เขาใช้ชีวิตเช่นปกติไม่ได้จนต้องไปอาศัยอยู่ในสถาบันที่รับผู้พิการทางสมองเอาไว้ ไคลฟ์ลืมเนื้อหาหนังสือทันทีที่อ่าน เพียงพลิกหน้าถัดไปหรือกะพริบตา เขาจะถือหนังสือเล่มเดิมและบอกว่าเป็นหนังสือเล่มใหม่ ไคลฟ์จำภรรยาสุดที่รักไม่ได้ ซึ่งภรรยาเขายังคงดูแลใกล้ชิดตลอดเวลายี่สิบปีที่เขาป่วย ไปเยี่ยมเยียนสม่ำเสมอที่สถาบัน เขาจำอะไรเกี่ยวกับภรรยาไม่ได้เลย แต่รับรู้ได้ว่ามีความผูกพันบางประการ ไม่รู้ว่ามาเยี่ยมถี่แค่ไหนเพราะเขาลืมทุกอย่างทันทีที่เธอกลับไป ไม่เคยรับรู้ว่าเธอมาเยี่ยมเป็นพันๆ ครั้ง ไคลฟ์จะโทรมาหาและบอกว่าไม่ได้พบเธอนานแล้วอยากให้มาหาเร็วที่สุด เขาดีใจที่มีผู้หญิงคนนี้มาเยี่ยม เศร้าใจเมื่อหายไป ดีใจอีกเมื่อเธอโผล่หน้ามาที่ประตูอีกแม้ว่าจะไม่รู้ว่าเธอออกไปเมื่อไร "เขาอยู่กับคนแปลกหน้าในสถานที่ใหม่ตลอดเวลา" "ทุกครั้งที่ฉันไปหา เขาจะเข้ามาใกล้ชิด ซบฉันและร้องไห้"
เขายังช่วยเหลือตัวเองได้ในกิจวัตรประจำวันแต่ไม่รู้ว่าทำไปหรือยัง กินมื้อไหน แต่งตัวจะไปไหนหรือไม่ไปไหน ความจำเกี่ยวกับความหมายของคำ (Semantic memory) ต่างจากความทรงจำเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง (Explicit memory) และแตกต่างจากความทรงจำเกี่ยวกับเหตุการณ์ในอดีตแต่ละช่วง (Episodic memory) การแพทย์พบว่าลำพัง Semantic memory ที่ไม่มี Explicit memory และ Episodic memory ร่วมด้วยนั้นแทบจะไม่สามารถพาชีวิตให้เดินไปอย่างมีจุดมุ่งหมายได้เลย เขาพูดได้แต่ถ้าถูกขัดจังหวะก็จะลืมและเปลี่ยนเรื่องพูดทุกครั้ง เขามักพูดคนเดียวและเปลี่ยนเรื่องไปได้เรื่อยๆ โดยไม่รู้ตัว ซึ่งสำคัญมากที่จะต้องรู้ว่าเขาพูดจาลักษณะนั้นเพราะความจำเสื่อม ไม่ใช่โรคจิต เพราะหากวินิจฉัยผิดและจ่ายยาโรคจิต จะทำให้อาการทรุดลงเนื่องจากฤทธิ์ข้างเคียงของยา
คำถามคือ ไคลฟ์จำผู้หญิงคนนี้ได้อย่างไร คำตอบคือ เขามีสิ่งที่เรียกว่า Emotional memory คือ ความจำเกี่ยวกับอารมณ์ เช่นเดียวกับทารกในทฤษฏีของ ซิกมันด์ ฟรอยด์ ที่เชื่อว่าทารกจำเหตุการณ์ไม่ได้ก็จริง แต่มี Emotional memory ฝังลึกลงในจิตใต้สำนึกและจะกลายเป็นหางเสือคัดท้ายชีวิตที่เหลือในภายภาคหน้า ปัจจุบันเราเชื่อว่ามันฝังลงในส่วนที่ลึกที่สุดของบริเวณสมองที่เรียกว่าลิมบิก Limbic system ที่ที่ไม่มีโรคอะไรจะเข้าไปทำลายได้โดยง่าย
การทดลองที่มีชื่อเสียงทำโดยนายแพทย์ชาวสวิส ชื่อ Edouard Claparede ในปี 1911 เขาซ่อนเข็มไว้ในมือ แล้วเดินจับมือกับผู้ป่วยที่ความจำเสื่อมจากพิษเหล้า พบว่าผู้ป่วยเหล่านี้จำไม่ได้ว่าเกิดอะไรขึ้น แต่ไม่มีใครยอมจับมือกับเขาอีกเลย
ไคลฟ์ล้มป่วยเพียงไม่กี่ปีหลังแต่งงาน ความรักของคนทั้งสองดูดดื่มยังไม่จางและความหลงใหลในดนตรีของทั้งสองเป็นประสบการณ์ร่วมที่พิเศษอีกชั้นหนึ่ง นั่นทำให้ภรรยาเป็นคนสำคัญต่ออารมณ์ของไคลฟ์เสมอ ไคลฟ์สามารถสัมผัสกลิ่นกายของเธอในอดีตและผูกพันกับบรรยากาศแห่งความรักรอบตัวคนทั้งสองในเวลานั้นซึ่งก็ไม่รู้ว่าเป็นเวลาไหน
ที่น่าประหลาดใจมากที่สุดคือ ไคลฟ์ยังเล่นเปียโนหรือคีย์บอร์ดได้ไม่มีที่ติ เขาบรรเลงเพลงคลาสสิคที่ชอบได้เป็นเลิศไม่ผิดเพี้ยน และมีความสุขล้นเหลือกับการทำเช่นนั้นร่วมกับผู้หญิงคนนั้น
การเล่นดนตรีเป็นส่วนหนึ่งของความจำที่เรียกว่า Implicit memory อาจแปลได้ว่าเป็นความทรงจำจากภายใน นักปรัชญาด้านดนตรีเชื่อว่า การได้ยินเสียงท่วงทำนองของดนตรีที่แท้ไม่ใช่ "ได้ยินท่วงทำนอง" (hearing of a melody) แต่เป็น "ได้ยินไปด้วยกันกับท่วงทำนอง" (hearing with memory) นั่นคือ ดนตรีไม่ใช่ของแปลกปลอม แต่ดำเนินไปด้วยกันกับชีวิตหรือตัวตนซึ่งภาษาทางจิตวิทยาเรียกว่า self ไคลฟ์สูญเสียความจำทั้งหมด แต่เขาไม่สูญเสียตัวตน คือ self
ไคลฟ์ ไม่มีอดีต ไม่มีอนาคต
มีเพียงปัจจุบัน ซึ่งหายไปได้ทุกเวลาแม้เพียงกะพริบตา
ดนตรีเป็นอะไรบางอย่างที่ทำให้เขาอยู่กับปัจจุบันได้นาน
นี่คือชีวิตของคนที่ความจำเสื่อม
และความสำคัญของดนตรีที่มีต่อชีวิต
ความรู้ทางวิชาการ จาก โรคจิตที่รัก, ป่วยแค่กาย...แต่ใจยิ้ม
โดย น.พ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
Tweet
วันศุกร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2556
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น