ไขมันเลือดสูงกับกระเทียม
เรื่องกระเทียมที่รักษาไขมันเลือดสูงเป็นที่รับรู้กันมานานพอสมควร เมื่ออาทิตย์ก่อนผมพบอีกตัวอย่างหนึ่ง เป็นเพื่อนรุ่นพี่ที่เป็นอาจารย์ทางเภสัชกรรม พี่ยรรยงค์เป็นอาจารย์ที่กระตือรือร้น ทำงานสอนมากมายจนไม่ค่อยมีเวลาเอาใจใส่ตัวเอง ผมไปพบไปคุยด้วยก็ยังเห็นพี่ยงค์กินอาหารเที่ยงด้วยอาหารกล่องที่สั่งมาจากโรงอาหาร เป็นข้าวผัดบ้าง ข้าวราดคะน้าหมูกรอบบ้าง
แน่นอนครับ เป็นข้าวขาวที่ไม่มีเส้นใย น้ำมันที่ผัดก็เป็นน้ำมันปาล์มที่ไขมันอิ่มตัวสูง เรียกว่าสมัยนักศึกษากินอยู่อย่างไร เวลาผ่านไป 20 กว่าปี ก็ยังคงกินข้างโรงเตี๊ยมของคณะแบบเดิมๆ อยู่ แถมงานสอนก็พัวพันจนกระทั่งตกเย็น ไม่มีโอกาสเรื่องออกกำลังกายเสียเลย ผลก็คือ ไขมันไตรกลีเซอไรด์สูงเกือบ 400 ม.ก.% (ปกติไม่เกิน 160 ม.ก.%) ภรรยาของพี่ยงค์ซึ่งเป็นเภสัชเหมือนกันเลยลองใช้กระเทียมแคปซูลให้กินดู ใช้ยี่ห้อที่ทำในเมืองไทยนี่แหละ 4 แคปซูลต่อวัน โดยให้กินตอนมื้อเย็นเพราะเคยรับรู้มาว่าการสร้างไขมันมักจะมีมากเวลาเย็น และคงถือเอาความสะดวกคือกินมื้อเดียวต่อวัน โดยยังไม่ได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมากินข้าวกล้องและยังไม่ได้ออกกำลังกาย
เวลาผ่านไปทีละ 3 เดือน ผลปรากฏว่าระดับไตรกลีเซอไรด์ของพี่ยงค์ค่อยๆ ลดลงเรื่อยๆ ไม่เร็วนักแต่ก็มีผลให้เห็นได้ จนถึงขณะนี้เป็นเวลาประมาณ 1 ปีครึ่ง ระดับไตรกลีเซอไรด์ลดเหลือเพียง 200 ม.ก.% ต้นๆ นี่เป็นตัวอย่างจริงอีกตัวอย่างหนึ่งที่แสดงถึงคุณค่าของสมุนไพรไทยตัวนี้ ความจริงเรื่องการกินกระเทียมสดวันละหลายกลีบทำให้สุขภาพดีคนไทยพูดกันมานานแล้ว แนะนำกันว่าควรเป็นวันละ 10 กลีบ งานวิจัยของเมืองนอกก็พิสูจน์ยืนยันเช่นเดียวกัน
แท้จริงบทบาทของกระเทียมที่มีต่อสุขภาพมีมากมายจนอาจเรียกได้ว่า กระเทียมเป็นสมุนไพรที่มีการใช้ในขอบเขตทั่วโลกมานานนับศตวรรษทั้งในฐานะเครื่องปรุงอาหารไปจนถึงเป็นเครื่องยา ใช้ได้แม้กระทั่งการขับไล่สิ่งชั่วร้าย อย่างเคาต์แดร็กคิวล่าก็ต้องอาศัยกระเทียมเป็นเครื่องล้างอาถรรพ์ แม้แต่ในสุสานฟาร์โรห์ที่อียิปก็ยังค้นพบกระเทียมถูกฝังอยู่ที่นั่นด้วย
งานวิจัยสมัยใหม่บอกว่า กระเทียมมีสารสำคัญหลายอย่างที่โดดเด่นได้แก่ สารอัลลิซิน(Allicin) ซึ่งสังกัดอยู่ในกลุ่มสารที่เรียกว่า "ฟัยโตนิวเตรียนต์ (Phytonutrient)" หรือเรียกอย่างไทยๆ ว่า "สารจากพืช" อันเป็นกลุ่มสารที่กำลังมาแรงในสุขภาพยุคใหม่ ซึ่งเมื่อกินเข้าไปแล้วไม่ได้ทำหน้าที่เหมือนอาหาร 5 หมู่ แต่ทำหน้าที่ใหม่ๆ ที่สื่อสารกับเซลล์ร่างกายให้ตอบสนองแล้วเกิดบทบาทบางประการที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ
เราพบว่ากระเทียมสดที่ยังไม่ได้ถูกหั่น ในกลีบของมันจะประกอบด้วยสารอัลลิอินกับเอนไซม์อัลลิเนส บรรจุอยู่คนละส่วนเหมือนดินระเบิดกับชนวนระเบิดที่ถูกวางไว้ด้วยกัน แต่ยังไม่ถึงเวลาที่จะกระทบกันให้เกิดปฏิกิริยารุนแรงแต่อย่างใด ต่อเมื่อกลีบกระเทียมถูกหั่น ตำ บดหรือขบเคี้ยวในปาก เจ้าสองตัวนี้จะถูกคลุกเคล้าเข้ากันเกิดเป็นสารตัวใหม่คือ อัลลิซิน ซึ่งสำแดงฤทธิ์ตามบทบาทของมันต่อไป (ปาริชาติ สักกะทำนุ กระเทียม สมุนไพรเสริมสุขภาพ สำนักพิมพ์รวมทรรศน์ กรุงเทพฯ 2533)
อัลลิซิน นี้เป็นสารประกอบกำมะถัน และฤทธิ์ทางยาของมันก็อาศัยความที่มีกำมะถันอยู่ด้วยในการรักษาโรคบางอย่าง เพราะร่างกายของเราบางส่วนต้องมีกำมะถันในสัดส่วนที่เหมาะสมไม่งั้นจะเกิดโรคขึ้น เช่น ผิวหนังพุพอง ตุ่มหนอง ผมกลายเป็นสีเทา ผมบาง ยาวช้า กำมะถันยังสำคัญต่อข้อและกระดูก กระเทียมจึงถูกใช้เป็นยาภายนอกสำหรับโรคผิวหนัง ใช้เป็นยาปฏิชีวนะอ่อนๆ สำหรับทางเดินหายใจและกระเพาะลำไส้ กระทั่งมีบ้างที่รายงานว่าช่วยบำบัดอาการของกระดูกและข้อ
แต่บทบาทของกระเทียมในสมัยใหม่กลับมาอยู่ที่การลดไขมัน บำบัดความดันเลือดสูงและโรคหัวใจ นอกจากสารอัลลิซินแล้วกระเทียมยังมีสารเซเลเนียม ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระสำคัญอีกตัวหนึ่งด้วย ดร.บอร์เดีย และดร.แบนซาล วิจัยเรื่องนี้ทางคลินิกค่อนข้างเยอะ เขารายงานในนิตยสาร Lancet ปี 1973 ว่า กระเทียมมีบทบาทลดคอเลสเตอรอลในเลือด เขาเลือกคนแข็งแรงมา 10 คน วัดคอเลสเตอรอลก่อนทดลองได้ 221 ม.ก.% แล้วให้คนทั้งหมดกินอาหารที่มีไขมันสูง รวมทั้งไขมันจากสัตว์ที่อุดมด้วยคอเลสเตอรอล จากนั้น 3 ชั่วโมงเจาะเลือดดู ปรากฏว่าคอเลสเตอรอลสูงขึ้นไปถึงเฉลี่ย 237 ม.ก.% เมื่อทิ้งระยะให้คอเลสเตอรอลลงสู่ปกติ ต่อมาให้กินอาหารไขมันสูงดังเดิม แต่คราวนี้เพิ่มน้ำมันกระเทียมหรือกระเทียมเข้าไปด้วย คราวนี้คอเลสเตอรอลแทนที่จะสูง กลับปรากฏว่าลดลงถึง 16 หน่วยอย่างมีนัยสำคัญ แสดงว่ากระเทียมไม่เพียงแต่ป้องกันไม่ให้คอเลสเตอรอลสูงขึ้น ยังช่วยลดได้อีกด้วย เขายังทำต่อไป เรื่องกระเทียมป้องกันการเกาะตัวของเกร็ดเลือดด้วย
ต่อจากเขามีการวิจัยใช้กระเทียมบำบัดโรคความดันเลือดสูง เช่น ดร.พิโอโตรสกี มหาวิทยาลัยเจนีวา พบว่า ผู้ป่วยความดันเลือดสูง 100 คน ปรากฏว่าคนไข้ 40% มีความดันเลือดลดลงอย่างเห็นได้ชัดภายในเวลา 1 อาทิตย์หลังการรักษา
อย่างไรก็ดี บทบาทของอัลลิซินถือกันว่าถ้าเป็นกระเทียมสดมันจะมีอยู่ครบครัน เพราะเคี้ยวแล้วจึงเกิดปฏิกิริยาได้สารนี้ในปากของเรา ส่วนกระเทียมบดบรรจุแคปซูลสารนี้น่าจะลดลงไปเรื่อยๆ บางบริษัทจึงทำเป็นน้ำมันกระเทียมสกัด ซึ่งกล่าวกันว่า คงสภาพมันไว้ได้ดีกว่า แต่สำหรับธรรมชาติบำบัดเชียร์ให้กินอย่างธรรมชาติ เคี้ยวกระเทียมสดก็ดีครับ ต้องออกกำลังกายด้วย และเปลี่ยนมากินข้าวกล้องเสียดีกว่า
เพราะสุขภาพที่ดีไม่ใช่เพียงประเด็นการลดไขมันเลือด ยังมีอื่นๆ อีกหลายปัจจัยที่ต้องอาศัยการปรับชีวิต เปลี่ยนอาหารด้วย
ความรู้จากคอลัมน์ธรรมชาติบำบัด โดย น.พ.บรรจบ ชุณหสวัสดิกุล, มติชนสุดสัปดาห์
Tweet
วันอังคารที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2556
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น