คุณค่าถั่วเหลืองกับสุขภาพไทย (5)
ถั่วเหลืองกับบทบาทการต้านมะเร็ง
บทบาทการต้านมะเร็งของถั่วเหลืองเป็นที่สังเกตมานานแล้ว โดยเฉพาะการลดอัตราเสี่ยงต่อมะเร็งเต้านมและมะเร็งต่อมลูกหมากด้วยการศึกษาในผู้ที่กินอาหารที่ทำจากถั่วเหลือง หลักๆ ได้แก่ การดื่มนมถั่วเหลืองและการกินเต้าหู้นั่นเอง
มีผู้ตั้งข้อสังเกตนานแล้วว่า ประเทศญี่ปุ่นและประเทศทางตะวันออกที่กินผลิตภัณฑ์ถั่วเหลืองมาก ถ้าเป็นญี่ปุ่นก็จะมีมิโสะและเทมปะอีกด้วย จะพบอัตราการเป็นมะเร็งเต้านมและมะเร็งต่อมลูกหมากในหญิงและชายชาวญี่ปุ่นต่ำมากเมื่อเทียบกับชนชาวอเมริกันและประเทศตะวันตกทั้งหลาย
ในเรื่องนี้ M.Messina และคณะได้รวบรวมไว้ในเรื่อง "Soy Intake and Cancer Risk : A Review of the In Vitro and In Vivo Data" ตีพิมพ์ใน Nutrition and Cancer 21, no.2 ปี 1994 ก็พบข้อเท็จจริงเดียวกันในเรื่องปริมาณการบริโภคผลิตภัณฑ์ถั่วเหลือง พบว่าชาวญี่ปุ่นกินผลิตภัณฑ์เหล่านี้วันละประมาณ 100 กรัม ขณะที่ชาวอเมริกันไม่บริโภคเลย
เรื่องที่น่าเศร้าก็คือ ผู้หญิงอเมริกันต้องตายด้วยโรคมะเร็งเต้านมเป็น 4 เท่าของผู้หญิงญี่ปุ่น และผู้ชายชาวอเมริกันก็มีโอกาสตายด้วยมะเร็งต่อมลูกหมากเป็น 5 เท่าของชายชาวญี่ปุ่น เดิมทีเดียวเคยเชือกันว่าความแตกต่างในเรื่องนี้น่าจะเป็นเพราะสาเหตุทางพันธุกรรม แต่ความจริงก็ปรากฏอีกว่า เมื่อชาวญี่ปุ่นอพยพย้ายถิ่นฐานเข้าไปทำกินในสหรัฐอเมริกา ไปตั้งรกรากมีลูกหลานที่นั่น ผลปรากฏว่า ภายในชั่วระยะอายุคนเดียว ชาวญี่ปุ่นที่ย้ายถิ่นฐานเหล่านี้ก็มีอัตราตายด้วยโรคมะเร็งทั้งสองชนิดเทียบเคียงเสมอชาวอเมริกัน
การศึกษาต่อมาพบว่า ชนชาวญี่ปุ่นที่ย้ายถิ่นฐานไปอยู่ในสหรัฐฯ ลูกหลานของพวกเขาได้ทอดทิ้งวัฒนธรรมการกินอยู่แบบดั้งเดิมไปหมดสิ้น คนรุ่นใหม่เหล่านี้พากันกินเนื้อสัตว์ นมเนยแบบอเมริกันเต็มรูปนั่นเอง
ถั่วเหลืองต้านมะเร็งได้อย่างไร สารผักหลายตัวจากมะเร็งคือคำตอบ
หนึ่งคือ สารเจนิสเตอิน สารฟลาโวนอยด์ ตัวสำคัญที่มีบทบาทยับยั้งการขยายตัวของเซลล์มะเร็ง ด้วยกลไกป้องกันการงอกของเส้นเลือดที่จะส่งอาหารเข้าไปให้เซลล์มะเร็ง การศึกษาในหลอดแก้วเกิดผลชัดเจนเช่นนั้น (Fotsis, T., etal. "Genistein, a Dietary Derived Inhibitor of In Vitro Angiogenesis." Proceeding of the National Academy of Sciences 90 (April 1993) : 2690-94) และปัจจุบันสารเจนิสเตอินสกัดกำลังอยู่ในระหว่างทดลองใช้รักษาคนไข้มะเร็งเต้านมและมะเร็งต่อมลูกหมาก
สองคือ สารเดอิดเซอิน ซึ่งเป็นสารไอโสฟลาโวน มีฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจนและเทสโตสเตโรน แต่มีฤทธิ์เพียงครึ่งเดียวของฮอร์โมนทั้งสอง เมื่อกินเข้าไป ไอโสฟลาโวนจะเข้าไปจับกับเซลล์เป้าหมายได้แก่ เซลล์เต้านมหรือต่อมลูกหมาก จึงป้องกันเซลล์เหล่านี้ไม่ให้ถูกกระตุ้นโดยฮอร์โมนของตนเองซึ่งมีฤทธิ์แรงกว่า อันจะทำให้เกิดเป็นมะเร็ง
ตรงนี้ภาษาทางวิชาการเรียกว่า มีฤทธิ์ยับยั้งโดยการแย่งจับจอง หรือ Competitive Inhibitor ขณะเดียวกัน การที่มันมีฤทธิ์น้อยๆ ก็ทำให้ร่างกายมีการหล่อเลี้ยงของฮอร์โมนเพศโดยไม่เกิดอาการพร่องฮอร์โมน แหม.. อะไรจะดีขนาดนั้น !
สามคือ ถั่วเหลืองยังมีกรดไฟติก เป็นสารแอนติออกซิแดนต์สำคัญ และเป็นสารยับยั้งเอนไซม์โปรตีเอส ซึ่งเป็นสารที่ส่งเสริมการกลายตัวเป็นเซลล์มะเร็ง
ด้วยเหตุฉะนี้ ทุกคำเคี้ยวของเต้าหู้ ทุกอึกของนมถั่วเหลืองคืออาหารสำคัญต้านมะเร็งของผู้คนชาวเอเชียที่ตกทอดมาแต่บรรพบุรุษ
นมวัวส่งเสริมโอกาสการเป็นมะเร็ง
ขณะที่นมถั่วเหลืองและผลิตภัณฑ์ถั่วเหลืองมีบทบาทต้านมะเร็ง แต่ในอีกด้านหนึ่ง นมวัวที่ได้รับการส่งเสริมให้ดื่มกันอยู่แต่เดิมกลับมีรายงานชิ้นแล้วชิ้นเล่าที่พบว่าการดื่มนมวัวมากเพิ่มโอกาสการเป็นมะเร็ง และการลดละการดื่มนมวัวช่วยให้ลดอัตราการเกิดมะเร็งได้
งานวิจัยที่สำคัญของคากาวา เขาศึกษาอาหารของคนญี่ปุ่นตั้งแต่ปี 1950-1975 หลังจากญี่ปุ่นแพ้สงคราม พวกอเมริกันได้เข้าไปส่งเสริมวัฒนธรรมการกินอยู่แบบตะวันตก ผลก็คือ ชนชาวญี่ปุ่นเองที่ถูกรุกรานทางด้านวัฒนธรรมได้หันไปดื่มนมกินสเต็กกันอย่างตะวันตกมากขึ้น
คากาว่าพบว่าภายใน 25 ปีดังกล่าว คนญี่ปุ่นดื่มนมเพิ่มขึ้น 15 เท่าตัว กินเนื้อสัตว์เพิ่มขึ้น 7.5 เท่า ลดการกินข้าวลง 70% ผลก็คือ ผู้หญิงญี่ปุ่นป่วยเป็นมะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่เพิ่มขึ้น 300% (Kagawa Y., Impact of Westernization on the Nutrition of Japan. Prevention. 7 : 205-17. 1978)
ขณะเดียวกัน ประเทศที่ลดปริมาณการกินเนื้อสัตว์นมเนยลงก็ลดอัตราตายด้วยโรคมะเร็งอย่างน่าสังเกต รายงานชิ้นนี้มีขึ้นตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 น.พ.ไมเคิล ฮินด์ฮีด สถาบันวิจัยโภชนาการแห่งชาติเดนมาร์กในขณะนั้น ได้เสนอให้รัฐบาลของเขากู้วิกฤตในเรื่องอาหารของชาวเดนมาร์กซึ่งกำลังตกอยู่ในสถานการณ์ลำบากในสงคราม ให้เปลี่ยนแปลงทิศทางการเกษตรกรรมจากการเลี้ยงวัวเพื่อดื่มนมมาปลูกข้าวไรย์ ข้าวสาลีแทนการปลูกหญ้าเลี้ยงวัว
เมื่อรัฐบาลเขาสนองตอบต่อข้อเสนอดังกล่าว ผลก็คือ ประชาชนชาวเดนมาร์กในขณะนั้นลดการบริโภคนมลง และกินธัญพืชเพิ่มขึ้น ปรากฏว่าในช่วงเวลา 3 ปีดังกล่าว จากปี ค.ศ.1914-1917 เขาพบว่า อัตราการเป็นมะเร็งของชาวเดนมาร์กลดลงถึง 34% (Hindheed, Michael. The Effects of Food Restriction During War on Motality of Copenhegen. JAMA 74 ; 381-82. 1920)
จากข้อเท็จจริงชิ้นแล้วชิ้นเล่าในเรื่องความเสี่ยงต่อโรคร้ายๆ อย่างโรคไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจ โรคมะเร็ง ที่ผลิตภัณฑ์นมวัวนำมาสู่ผู้คนชาวโลก โดยเฉพาะในซีกโลกตะวันตกจนเป็นที่อิดหนาระอาใจ เป็นผลให้ชาวตะวันตกทั้งยุโรป อเมริกาและออสเตรเลีย พากันตื่นกลัวการดื่มนมและเกิดความตื่นตัวใหม่ที่จะหันหาการดื่มนมถั่วเหลืองและผลิตภัณฑ์เต้าหู้ทดแทน ปรากฏการณ์เช่นนี้ทำให้ธุรกิจนมในประเทศผู้ผลิตใหญ่ๆ ทั่วโลกต้องสูญเสียตลาดการค้าของตนอย่างน่าตื่นตกใจ
ด้วยเหตุนี้ ประเทศผู้ผลิตนมวัวจึงพุ่งเป้ามาสู่ประเทศกำลังพัฒนาและประเทศอุตสาหกรรมใหม่ และประเทศไทยคือเป้าหมายอันโอชะเป้าหมายหนึ่ง เพราะผู้คน ทั้งนักวิชาการ ทั้งรัฐบาลและประชาชนต่างได้รับการอบรมด้วยตำราเล่มโตตีพิมพ์ต้นฉบับมาจากอเมริกาเรียบร้อยแล้ว ต่างนับถือการดื่มนมตามแบบอเมริกัน
เป็นที่น่ายินดีว่า ในท่ามกลางข้อเท็จจริงใหม่ๆ จากทั่วโลกเกี่ยวกับผลด้านกลับของการดื่มนม และความน่าจะเป็นไปได้มากกว่าที่จะส่งเสริมให้คนไทยบริโภคผลิตภัณฑ์ถั่วเหลืองและอาหารพื้นถิ่นทางตะวันออกของเราแทน ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการของภาครัฐเริ่มยอมรับบนหน้าน.ส.พ.มติชน เมื่อสิงหาคม 2541 ว่า "การที่ฝรั่งเกิดโรคมากมายเพราะการดื่มนมนั้น เนื่องจากเขาดื่มถึงปีละ 150 ลิตร/คน/ปี ปริมาณดังกล่าวเกินความต้องการของร่างกาย แต่คนไทยยังดื่มนมน้อยอยู่"
ถ้าใครจะมีสติสัมปชัีญญะสักนิดหนึ่ง อาจจะรู้สึกชอบกลกับข้อคิดและคำเสนอดังกล่าวอยู่ไม่น้อย ลองคำนวณปริมาณดูซิ นม 150 ลิตร/คน/ปี เฉลี่ยออกมาแล้วเท่ากับ 1.64 แก้ว/คน/วัน นั่นแปลว่าความจริงแล้วฝรั่งดื่มนมวันละ 1 แก้วกว่าต่อวัน ซึ่งก็เกิดอันตรายแล้ว นักวิชาการท่านนั้นกลับยืนยันให้คนไทยดื่มนมกันวันละ 2-3 แก้ว จะมิเป็นการนำคนไทยไปสู่ความเสี่ยงทางสุขภาพหรอกหรือ และจะบอกให้ก็ได้ว่า ด้วยการชี้นำเช่นนี้ ตัวเลขแนะนำการดื่มนมดังกล่าวได้ถูกกำหนดไว้ในสุขบัญญัติแห่งชาติ 9 ประการแล้ว
ความรู้จากคอลัมน์ธรรมชาติบำบัด โดย น.พ.บรรจบ ชุณหสวัสดิกุล, มติชนสุดสัปดาห์
Tweet
วันพฤหัสบดีที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2556
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น