ความจำเสื่อม
หลายปีที่ผ่านมาดิฉันได้มีโอกาสดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อม ดูจะเป็นเรื่องซีเรียส สำหรับโพสต์นี้ แต่บทความน่าสนใจและอาจเป็นประโยชน์กับหลายท่าน ซึ่งได้สรุปย่อความมาเพียงบางส่วน ดิฉันเหมือนกับหลายๆ ท่านที่มักเรียกโรคสมองเสื่อมว่า อัลไซส์เมอร์ คุณหมอที่ดูแลประจำระบุอาการแม่อดีตสามีว่า ดีเมนเชีย (Dementia) ที่เกิดจากหลายสาเหตุ ทั้งเคยเส้นเลือดฝอยแตกในสมอง และด้วยตัวเลขอายุย่าง 88 ที่มีอาการโรคอัลไซส์เมอร์ด้วย
ดีเมนเชีย หมายถึง ภาวะสมองเสื่อม มักเกิดกับผู้สูงอายุ บ้างเกิดเองตามวัยเพราะสังขารทั้งหลายเป็นของไม่เที่ยง มีแก่มีเสื่อมไปเป็นธรรมดา บ้างเกิดขึ้นเพราะเป็นโรคอัลไซส์เมอร์ (Alzheimer's disease) บ้างเกิดขึ้นเพราะเป็นโรคพาร์กินสัน (Parkinson's disease) และบ้างเกิดจากโรคหลอดเลือดสมอง เส้นเลือดเส้นเล็กๆ ในสมองอุดตันเนื่องจากความดันโลหิตสูงและ/หรือเบาหวาน มีส่วนน้อยที่จะเกิดกับคนอายุไม่มากนัก เช่น วัยกลางคน
คนส่วนมากมักใช้คำว่าอัลไซส์เมอร์เมื่อพูดถึงสมองเสื่อม หรือความจำเสื่อมมากกว่าคำว่า ดีเมนเชีย มองในแง่หนึ่งอาจจะเป็นเพราะการแพทย์ไม่เคยสื่อสารสาธารณะให้สังคมรู้จัก มองอีกมุมหนึ่งอาจจะเป็นเพราะธุรกิจสุขภาพและธุรกิจยาข้ามชาติต้องการสื่อสารเรื่องอัลไซส์เมอร์ให้คนรู้จักมากๆ ซึ่งถ้ามัวแต่ไปนั่งกินยารักษาโรคอัลไซส์เมอร์เม็ดละร้อยบาทก็จะผิดทิศทางรักษาไม่ตรงสาเหตุ ยังไม่นับยาบางตัวที่โฆษณาเกินจริงและบางตัวมีฤทธิ์ข้างเคียงมาก
ไม่นานมานี้ มีงานวิจัยสรุปว่าภาวะดีเมนเชียหรือสมองเสื่อมที่เกิดกับคนไทยนั้น ส่วนใหญ่มีสาเหตุจากโรคหลอดเลือดทางสมอง เพราะคนไทยมีความดันโลหิตสูงและเบาหวานที่รักษาไม่เหมาะสมจำนวนมาก แต่ระยะหลังๆ ทิศทางของงานวิจัยเปลี่ยนไป โดยมักได้ข้อสรุปว่าคนไทยเป็นโรคอัลไซส์เมอร์กันมาก พร้อมๆ กับข้อสังเกตว่าธุรกิจยารักษาโรคอัลไซส์เมอร์ก็ขยายตัวมากด้วย
ปัจจุบันเวลาใครลืมอะไรง่ายขึ้นก็มักจะมาพบแพทย์เร็วขึ้น พร้อมคำถามว่าตนเป็นอัลไซส์เมอร์หรือยังทั้งที่อายุเพิ่งสามสิบกว่าปีห้าสิบปีเท่านั้น กรณีเช่นนี้ร้อยทั้งร้อยไม่ได้เป็นอะไร นอกจากทำงานมาก พักผ่อนน้อย ใจลอยเก่ง ไม่มีสติ ไม่มีสมาธิ วางของไหนก็ไม่ตั้งใจเลยลืม รับนัดใครแล้วไม่รีบจดก็จะลืม ผู้ป่วยสมองเสื่อมแท้ๆ มักไม่ได้มาพบแพทย์ด้วยตนเองเพราะตัวเองจะไม่รู้ว่ากำลังเริ่มสมองเสื่อมหรือความจำเสื่อมไปแล้ว โดยทั่วไปมักเกิดขึ้นช้าๆ เงียบๆ โดยไม่มีใครรู้ตัว บ้างมีอาการแล้วหายเอง หายเองสักพักก็เป็นอีก สลับกันไปมาเช่นนี้ระยะหนึ่ง กว่าจะรู้ตัวอีกทีก็ความจำเสื่อมไปมากแล้ว ขี้หลงขี้ลืมมากและชัดเจนจนลูกหลานเห็นผิดสังเกตจึงพามาพบแพทย์
ลูกหลานมักพบว่าผู้สูงอายุนั่งนิ่งๆ ยืนนิ่งๆ เป็นเวลานานโดยไม่ทราบสาเหตุ เมื่อชวนคุยก็มักใช้เวลาตั้งสติพักใหญ่กว่าจะตอบคำถามหรือมีสติกลับคืนมา อาการนี้เป็นๆ หายๆ บางบ้านผู้สูงอายุมักพูดถึงคนเก่าแก่ที่ตายไปแล้วบ่อยขึ้น หรือเหมือนว่าคนเหล่านั้นยังมีชีวิตอยู่ บางคนจำชื่อลูกหลานไม่ได้ กว่าลูกหลานจะมั่นใจว่าอาการเหล่านั้นเป็นจริงไม่ได้คิดไปเอง อาการก็มักจะเป็นมากพอสมควรแล้ว บางคนเดินออกนอกบ้านไปเรื่อยๆ ไม่มีจุดหมาย แสดงว่ามีอาการหลงลืมมาแล้วระยะหนึ่งแล้วจึงมีอาการสับสนแทรกซ้อน มักไม่รู้เวลา ไม่รู้สถานที่ ประกอบกับจำลูกหลานไม่ค่อยได้ อาการสับสนที่แทรกขึ้นมามีสาเหตุจากสมองสูญเสียการทำงานชั่วคราว ส่วนใหญ่ไม่ทราบสาเหตุ แต่บางครั้งพบว่าเกิดจากการนอนไม่หลับติดๆ กันหลายคืนหรือมีไข้ สำหรับอาการหวาดระแวง (Paranoid) เช่น ระแวงว่ามีขโมยขึ้นบ้านจึงคอยปิดประตูหน้าต่างตลอดเวลา หรือระแวงว่าลูกหลานจะขโมยเงินทองไป อาการนี้มักอธิบายด้วยสาเหตุทางใจมากกว่าทางชีววิทยาของสมอง
เมื่อพบว่าผู้สูงอายุในบ้านความจำเสื่อม ขอให้รู้ว่ารักษาไม่ได้ ไม่ว่าจะเสื่อมจากสังขารหรือจากโรคอะไรก็ล้วนรักษาไม่ได้ทั้งนั้น ยาที่แพทย์สามารถให้เพื่อช่วยได้บ้าง คือ ยาที่ใช้ลดอาการกระวน กระวายอยู่ไม่สุข (ซึ่งมิใช่ยาคลายเครียด) และยาที่ช่วยให้นอนหลับ (ซึ่งมิใช่ยานอนหลับ) เพื่อป้องกันไม่ให้มีอาการสับสนแทรกซ้อนซึ่งจะทำให้เรื่องยุ่งยิ่งกว่าเดิมเป็นอันมาก แต่หากมีอาการสับสนไปแล้วก็ให้ยารักษาอาการสับสนนั้นได้ หรือหากมีอาการหวาดระแวงไปแล้วก็สามารถให้ยารักษาอาการหวาดระแวงได้เช่นกัน แต่ยารักษาเพื่อให้ความจำกลับคืนมา ไม่มี !
สิ่งที่สำคัญกว่าการใช้ยา คือ การจัดระบบบ้านให้เหมาะ คือบ้านที่เรียบง่ายไม่รกรุงรัง ของใช้ส่วนตัวท่านให้วางในที่ที่เห็นง่าย ควรวางปฏิทินตัวโตนาฬิกาเรือนใหญ่ให้ท่านเห็นเสมอ ทั้งหมดนี้เพื่อป้องกันอาการสับสนและหวาดระแวงที่จะแทรกซ้อนนั่นเอง ดูแลปรับปรุงห้องน้ำให้เหมาะ เก็บเงินที่จะหมดไปกับยาราคาแพงที่ประโยชน์ไม่ชัีดเจนมาไว้จ้างคนช่วยดูแลถ้าดูแลเองไม่ได้เต็มที่ สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าคือ ความกตัญญูอย่างเดียวไม่พอ แต่ต้องอาศัยการจัดการอย่างเป็นระบบด้วย ทั้งเรื่องการเงินและเวลาของลูกแต่ละคน กำหนดสัดส่วนแรงงานและแรงเงินให้ยุติธรรมกับทุกฝ่าย ไม่ปล่อยภาระการดูแลผู้สูงอายุที่สมองเสื่อมไว้กับลูกสาวที่ไม่แต่งงาน
ความรู้ทางวิชาการจาก โรคจิตที่รัก, ป่วยแค่กาย...แต่ใจยิ้ม
โดย นายแพทย์ ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
Tweet
วันศุกร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2556
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น