ความดันเลือดสูง รักษาด้วยธรรมชาติบำบัด
อาหารบำบัดความดันเลือดสูง
ความดันเลือดสูงเป็นภาวะความเสื่อมของหลอดเลือดประการหนึ่ง คนที่มีความดันเลือดสูงจะมีอายุสั้นกว่าปกติ สาเหตุนั้นมีหลายประการ ทั้งความเครียด พันธุกรรม กินอาหารไม่ถูกต้อง วิถีชีวิตเป็นต้น นอกจากนี้อาจมีสาเหตุจากโรคอื่นมาก่อนเช่น โรคไต เบาหวาน เดิมทีเคยคิดกันว่าความดันเลือดจะเพิ่มขึ้นตามอายุ แต่เดี๋ยวนี้พบว่าไม่จริง คนในสังคมที่กินอยู่อย่างดั้งเดิม ไม่มีมลภาวะและอยู่กันอย่างสงบนั้นความดันเลือดในคนแก่ยังคงเท่ากับคนหนุ่มๆ
อาหารที่ทำให้ความดันเลือดสูง ได้แก่ เกลือ ไม่ว่าจะในรูปของโซเดียมคลอไรด์ในสภาพเกลือแกงที่ใช้ทำกับข้าว น้ำปลา ไปจนถึงเกลือที่แฝงอยู่ในอาหาร เช่น เฟร้นช์ฟรายด์ โพเตโต้ชิพ ป๊อปคอร์น และที่สำคัญคือ ผงชูรสหรือโมโนโซเดียมกลูตาเมต เป็นปัจจัยที่เพิ่มปริมาณโซเดียมแก่ร่างกาย
เนื้อสัตว์เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ความดันเลือดสูง สถิติเปรียบเทียบคนกินมังสวิรัติ 100 คน เทียบกับคนกินเนื้อสัตว์ในงานวิจัยหนึ่งพบว่า กลุ่มที่กินมังสวิรัติค่าความดันเฉลี่ยเท่ากับ 126/77ม.ม. ปรอท ขณะที่คนกินเนื้อสัตว์มีระดับเฉลี่ย 147/88 ม.ม.ปรอท งานวิจัยนี้ยังพบอีกว่าคนกินมังสวิรัติเพียง 2% เท่านั้นที่มีความดันเลือดสูง ขณะที่ชาวมังสนิยมมีถึง 26% ที่มีความดันเลือดสูง สาเหตุน่าจะมาจาก 2 สาเหตุ
หนึ่งคือ เนื้อสัตว์มีไขมันแทรกอยู่เยอะ หลอดเลือดจึงถูกด้วยคราบไขได้มากกว่าคนที่กินผัก
สองคือ คนมังสวิรัติกินผักเยอะ จึงได้รับโพแทสเซียมมากกว่า โพแทสเซียมในร่างกายสูงมีผลตรงกันข้ามกับโซเดียมในเรื่องเกี่ยวกับความดันเลือด
นมเนย คือแหล่งที่มาของกรดไขมันอิ่มตัวที่เพิ่มไขมันในเลือด ลามปามไปถึงภาวะจับคราบไขมันตามผนังหลอดเลือด ทำให้ความดันเลือดสูง ประเทศออสเตรเลียซึ่งเป็นประเทศนำหน้าในการดื่มนม นอกจากมีปัญหาอ้วน ไขมันเลือดสูง ความดันเลือดสูงแล้ว ยังพบอีกว่าอัตราการตายของพวกเขาร้อยละ 50 ตายด้วยโรคหัวใจหลอดเลือด
เหล้า บุหรี่ กาแฟ ลำพังสูบบุหรี่เพียง 2-3 วินาทีสำหรับบางคนอาจพบว่ามีความดันสูงขึ้น 25 ม.ม.ปรอทเลยก็มี เนื่องเพราะนิโคตินเข้าไปกระตุ้นแอดรีนาลีน
อนุมูลอิสระ ได้มีการพิสูจน์ซ้ำแล้วซ้ำอีกถึงบทบาทที่ก่อความเสื่อมของหลอดเลือด ทำให้ไขมันถูกออกซิไดซ์แล้วตับนำไขมันไปใช้ไม่ได้ ไขมันก็พอกจับตามผนังหลอดเลือดทำให้ความดันเลือดสูงได้ อนุมูลอิสระมากับอาหารปิ้งย่าง ทอดจนเกรียมจัด มากับสารแต่งสีแต่งกลิ่นในอาหารขยะ
บำบัดความดันเลือดสูงด้วยอาหาร จึงประกอบด้วย
1. งดกินอาหารปิ้ง ย่าง ทอด งดดื่มนมโดยเด็ดขาดแม้แต่นมพร่องไขมัน ก็เพียงแต่ลดไขมันลงไปครึ่งหนึ่งเท่านั้น แถมไขมันที่มีอยู่ก็เป็นไขมันอิ่มตัว อาหารทอดเป็นที่มาของอนุมูลอิสระที่ควรหนีให้ห่าง น้ำมันที่ใช้ทำกับข้าวควรจำกัด ไม่เกิน 3 ช้อนชา/วัน เลือกกับข้าวประเภทนึ่ง อบเพราะใช้น้ำมันน้อย เลือกกินอาหารไทยประเภทแกงส้ม ต้มยำ ห่อหมก ส้มตำเป็นต้น
2. ลดละการกินเนื้อสัตว์ หันมากินปลาและอาหารทะเลดีกว่ากินไก่ กินไก่ก็ยังดีกว่ากินหมู ส่วนเนื้อวัวแย่สุดๆ เพราะแม้แต่เนื้อสันก็ยังมีไขมันแทรกอยู่เยอะ ส่วนปลาและอาหารทะเลยังมีน้ำมันปลาที่มีประโยชน์อีกด้วย
3. กินผักสด ผลไม้ให้มาก วันละ 5 ส่วนบริโภคต่อวัน แบ่งเป็นมื้อต่างๆ ได้ดังนี้คือ ดื่มน้ำผลไม้คั้น 1 แก้วตอนเช้า (ให้ดีควรคั้นโดยใช้เครื่องคั้นแยกกากโดยไม่ต้องเติมความหวานเช่น แครอท แอ๊ปเปิ้ล เซเลอรี่ บีทรูท สับปะรด ส่วนส้มใช้ที่คั้นแบบเดิมๆ ที่ใช้กันอยู่), กินผลไม้หลังอาหาร 3 มื้อ, กินผักสด 1 จานมื้อเย็น (เน้นหรือให้มีผักพื้นบ้านด้วย)
4. กินข้าวกล้องทุกมื้อ ถ้าออกจากบ้านใช้สูตร 3 คือ วีตเจิร์ม งาดำ เมล็ดทานตะวัน อย่างละ 1 ส่วนโรยบนข้าวสวย
อดอาหารบำบัดความดันเลือดสูง
การกินผักสด ผลไม้ กินข้าวกล้องช่วยให้ร่างกายได้รับสารต้านอนุมูลอิสระ ขณะเดียวกัน ให้รู้จักการอดอาหารเพื่อล้างพิษ อันจะเปิดโอกาสให้เซลล์ร่างกายแม้กระทั่งหลอดเลือดสมานคืนตัวเองได้ดีขึ้น
การอดเพื่อบำบัดความดันเลือดสูง ขอแนะนำการอดด้วยน้ำผักหรือที่รู้จักกันในนามของน้ำซุปโพแทสเซียม ทำได้โดยหั่นแครอท แตงกวา ผักกาด ผักใบเขียวอื่นเท่าที่จะหาได้ มันฝรั่งปอกเอาส่วนเปลือกหนาๆ ประมาณ 1/2 ซม. ทั้งหมดใส่หม้อเติมน้ำปริ่มๆ ต้มด้วยไฟอ่อนจนผักเปื่อย น้ำซุปนี้จะมีโพแทสเซียมสูง
ระหว่างวันอดให้งดเนื้อสัตว์ ไขมัน และแป้งข้าว ให้ดื่มน้ำโพแทสเซียมนี้ครั้งละ 1-2 แก้ว วันละหลายครั้งตามแต่ต้องการ รวมแล้วประมาณ 1 ครึ่ง - 2 ลิตรต่อวัน ดื่มไปเรื่อยๆ จนกระทั่งเข้านอน ทำเช่นนี้สัปดาห์ละ 1 วัน ในระหว่างนั้นก็ยังคงกินยาลดความดันที่หมอให้มา คุณจะเริ่มพบว่าความดันเลือดค่อยๆ ลดลง และยาลดความดันจะเริ่มลดลงได้
วิตามิน สมุนไพร และผักพื้นบ้าน
วิตามินซีธรรมชาติ 1-2 กรัม/วัน, วิตามินอี 20-400 iu/วัน วิตามินอีต้องเริ่มจากน้อยไปหามากเพราะถ้าเริ่มมากๆ ทันทีอาจทำให้ความดันขึ้นสูงได้, วิตามินบีรวม 50 ม.ก. 1 เม็ด/วัน, แมกนีเซียม 500 ม.ก./วัน, โพแทสเซียม 150 ม.ก./วัน, แมงกานีส 50 ม.ก./วัน, เซเลเนียม 100 ม.ค.ก./วัน, กระเทียม 2 แคปซูล 2 ครั้ง/วัน, กรดไขมันจำเป็น(EFA) ซึ่งเป็นส่วนผสมของน้ำมันปลา พริมโรสและเลซิทิน 2 แคปซูล 2 ครั้ง/วัน
ผักพื้นบ้านไทย มีการวิจัยมากมายแล้วในบทบาทที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant) สารต้านอนุมูลอิสระตัวเก่ง (Super antioxidant) และมีสารผักที่สื่อสารกับร่างกายในทิศทางต่างๆ ผักพื้นบ้านจำนวนหนึ่งมีบทบาทไม่น้อยในการช่วยบำบัดความดันเลือดสูง ลองใช้สูตรต่อไปนี้คือ
- กินมะขามป้อม สมอไทย สมอพิเภกหรือตรีผลาในฐานะของยาอายุวัฒนะ สารรสเปรี้ยวอมฝาดในผลเหล่านี้คือสารกลุ่ม Proanthrocyanidin เป็นสารต้านอนุมูลอิสระตัวเก่ง จึงปกป้องหลอดเลือด หัวใจ และป้องกันไขมันเลือดสูงได้จากการผ่อนทำลายของอนุมูลอิสระ
- กินผักใบเขียวเข้มอมแดง เช่น ขี้เหล็ก ใบเหมียง ผักหวาน ผักเชียงดา ใบยอ ผักแพว ผักไผ่ ผักชีลาว ซึ่งมีสารกลุ่มไบโอฟลาโวนอยด์และเควอร์เซติน เป็นสารต้านอนุมูลอิสระอีกกลุ่มหนึ่งที่ช่วยการทำงานของวิตามินซีให้ดียิ่งขึ้น
- กินผักพื้นบ้านเส้นใยสูง ในรูปของน้ำพริกผักจิ้ม เช่น มะเขือพวง มะระขี้นก สะเดา ลูกฉิ่ง โดยกินกับน้ำพริก วันละประมาณ 200 กรัม ผักพื้นบ้านช่วยขับไขมันส่วนเกินที่บังเอิญจะมีในอาหารมื้อนั้น ทั้งช่วยลดไขมันในเลือดได้ เป็นผลดีในการรักษาความดันเลือดสูงในระยะยาว
- กินกระเทียมวันละ 10-15 กลีบ โดยกินสดกับยำ แกล้มกับน้ำพริก กระเทียมช่วยลดไขมันในเลือดและลดความดันเลือดสูงในทางอ้อม กระเทียมมีสารสำคัญคือ Allicin
- กินผักพื้นบ้านขับปัสสาวะ เช่น กระชาย ยอดกระเจี๊ยบ ตะไคร้ พลูคาว หรือจะต้มชาตะไคร้ดื่มบ้างก็ได้
- คั้นน้ำใบบัวบกสดๆ ครั้งละ 1 กำมือ ผสมคึ่นฉ่ายด้วยก็ได้ กินทุกวันช่วยลดความดันเลือด
ความรู้จากคอลัมน์ธรรมชาติบำบัด โดย น.พ.บรรจบ ชุณหสวัสดิกุล, มติชนสุดสัปดาห์
Tweet
วันอังคารที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2556
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น