วันพฤหัสบดีที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2556
คุณค่าถั่วเหลืองกับสุขภาพไทย (3)
ถั่วเหลือง - การกินอยู่ในวิถีไทยต้านกระดูกพรุน
จากข้อมูลเปรียบเทียบอัตราการเกิดกระดูกหักอันเนื่องจากกระดูกผุในตอนที่แล้ว (2) ชี้ให้เห็นว่าคนไทยมีกระดูกผุน้อยกว่าคนอเมริกันเยอะถึงเกือบ 10 เท่า อย่างไรก็ดี สังคมไทยก็เปลี่ยนไปจากเดิม (ตามแบบสังคมตะวันตกอีกนั่นแหละ) พลอยทำให้โรคกระดูกผุมีเพิ่มขึ้นในระยะหลัง ตรงนี้เองพอฝรั่งประโคมข่าวให้รีบๆ ดื่มนมและเอาให้แน่ต้องเป็นนมผสมแคลเซียม แถมแอบเพิ่มตัวเลขความต้องการแคลเซียมต่อคนต่อวันให้เพิ่มสูงขึ้นจากวันละ 800 ม.ก.เป็นวันละ 1,200 ม.ก. เขาพูดแค่นี้เราก็พากันเชื่อพากันดื่มเสียดุลการค้าให้กับพวกประเทศผู้ผลิตนมกันยกใหญ่ ทราบไหมครับว่าปี 2541 ลำพังบริษัทเดียวเขากวาดเงินจากคนไทยไปมากกว่า 1,000 ล้านบาท ขนาดที่เขาพาผู้แทนขายนมทั้งบริษัทไปเที่ยวเมืองนอกได้สบาย
ศ.น.พ.รัชตะ รัชตะนาวิน ภาควิชาอายุรกรรม คณะแพทยศาสตร์ ร.พ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ถึงกับกล่าวว่า "ต้องหาเมนูแก้คนไทยกระดูกพรุน-ชี้นมแคลเซียมใช่ว่าจะช่วยได้" คุณหมอกล่าวว่า "โรคกระดูกพรุนได้รับความสนใจเพราะการที่สังคมชนบทของเราเปลี่ยนแปลงเป็นสังคมเมืองทำให้คนเคลื่อนไหวช้าลง อย่างไรก็ตาม ประชากรในกลุ่มเกษตรกรรมซึ่งได้ออกกำลังเคลื่อนไหวและถูกแสงแดดอยู่เสมอจะมีปัญหาน้อยกว่า ดังนั้น คนไทยควรกินแคลเซียมวันละเท่าไหร่ อาจไม่จำเป็นต้องกินเท่าคนอเมริกันเนื่องจากมีความแตกต่างกันในแง่กรรมพันธุ์และปริมาณแสงแดด วิตามินดีในคนไทยกทม.มีระดับเพียงพอ"
คำตอบเรื่องแหล่งอาหารให้แคลเซียม เมื่อเราย้อนกลับไปหาการกินอยู่ตามวิถีไทยเปรียบเทียบกับฝรั่ง กล่าวคือ ฝรั่ง 1 คนกินอาหารเช้าจรดเย็นได้แคลเซียมดังนี้คือ ขนมปังกาแฟตอนเช้า ได้ 0 ม.ก., อาหารเที่ยงเช่น แฮมเบอร์เกอร์ 1 อันได้ 199 ม.ก. เฟร้นช์ฟรายด์ 1 ซองได้ 18 ม.ก.และสลัดไก่ 1 จานได้ 34 ม.ก., อาหารเย็นเช่นซุปหัวหอม 1 ถ้วยได้ 25 ม.ก. สเต็กเนื้อ 1 จานได้ 262 ม.ก.และสลัดผักผลไม้ 1 จานได้ 20 ม.ก.รวมทั้งวันได้ปริมาณแคลเซียม 557 ม.ก. ซึ่งไม่พอเพียงจึงต้องหันไปหาการดื่มนม
ส่วนอาหารไทยตามวิถีเดิม ปริมาณต่อคนใน 1 วันเช่น กุ้งชุบแป้งทอด ได้แคลเซียม 699 ม.ก. ผัดผักโขมไฟแดง 429 ม.ก. กะปิพล่า+ยอดกระถิน+ยอดแค 231 ม.ก. กะปิคั่ว(ใส่กุ้งแห้งปลากรอบ) 194 ม.ก. แกงส้มตูนกับปลากราย 147 ม.ก.และยำยอดกระถิน(ใส่กุ้งแห้ง) 105 ม.ก.รวมได้ปริมาณแคลเซียม 872 ม.ก.พอเพียงสำหรับความต้องการใน 1 วัน
ผลิตภัณฑ์ถั่วเหลืองที่ให้แคลเซียมมาก คือ เต้าหู้ แม้จะไม่ใช่แคลเซียมจากถั่วเหลืองโดยตรงแต่วิธีการทำเต้าหู้ต้องใส่สารประกอบแคลเซียมเข้าไป เต้าหู้ขาว 1 แผ่นจึงให้แคลเซียม 250 ม.ก. นี่คือภูมิปัญญาตะวันออก
ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้กระดูกพรุนที่เราต้องเรียนรู้และแก้ไขดังนี้
1. วิถีชีวิตที่ขาดการออกกำลังกาย ทุกก้าวย่างของการลงน้ำหนักของคนเราจะกระตุ้นให้แคลเซียมจับพอกกับกระดูก ใครที่นั่งกินนอนกินถึงจะรับแคลเซียมไปเท่าไรก็กระดูกพรุนวันยังค่ำ องค์การนาซาทดลองให้คนวัยสาวนอนเฉยๆ 4 เดือนโดยกินอาหารอุดมสมบูรณ์ ปรากฏว่ากระดูกส่วนต่างๆ บางลงรวดเร็วมาก ที่ข้อเท้าบางไปถึง 10.4% ต้องใช้เวลาฟื้นตัวอีก 12 เดือนจึงจะปกติ
2. การไม่ได้รับแสงแดดเพียงพอ ผิวของคนเราเมื่อได้รับแสงแดดจึงจะสร้างวิตามินดีซึ่งช่วยการดูดซึมแคลเซียมในทางเดินอาหาร นี่เป็นข้อเสียเปรียบของชาวตะวันตก คนไทยยังได้รับแสงแดดที่พอเพียง ฉะนั้นการละทิ้งชีวิตกลางแจ้งและอยู่แต่ในตึกตลอดทั้งวันก็น่าจะเพิ่มความเสี่ยงต่อกระดูกพรุน
3. กินยาที่ขัดขวางการดูดซึมแคลเซียม ยาเคลือบกระเพาะที่มีอะลูมิเนียม เครื่องดื่มบรรจุกระป๋องที่เคลือบอะลูมิเนียม การดื่มชากาแฟ เหล่านี้ล้วนขัดขวางการดูดซึมแคลเซียมในลำไส้ น้ำอัดลมที่มีส่วนผสมของฟอสฟอรัสสูงเพื่อสร้างความเป็นฟองฟู่เป็นเหตุให้ร่างกายเสียสมดุลของแคลเซียมและฟอสฟอรัส เราต้องละลายแคลเซียมจากกระดูกมาสมดุลฟอสฟอรัสในเลือด เป็นผลให้กระดูกเสียแคลเซียม
4. กินโปรตีนล้นเกิน สัดส่วนที่ดีของแคลเซียมและฟอสฟอรัสในอาหารควรใกล้เคียง 2 : 1 ซึ่งเนื้อสัตว์มีสัดส่วนอยู่ที่ 1 : 8 ถึง 1 : 20 ฟอสฟอรัสสูงทำให้เราสูญเสียแคลเซียมจากกระดูก สังคมบริโภคนิยมที่นิยมการกินเนื้อสัตว์ล้นเกินจึงเสี่ยงต่อกระดูกพรุน
5. ภาวะฮอร์โมนเพศลดลง ฮอร์โมนเอสโตรเจนเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยการดูดซึมแคลเซียมในร่างกาย เหตุนี้ หญิงวัยใกล้หมดประจำเดือนจึงเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะกระดูกพรุน ผู้หญิงตะวันตกจึงต้องรับฮอร์โมนเสริมกันยกใหญ่เพราะอาหารตะวันตกทั้งขาดแคลเซียม แสงแดดก็ไม่มี ไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย เรื่องดีสำหรับวิถีกินอยู่อย่างชาวตะวันออกกลับพบว่าเราได้รับสารฮอร์โมนเอสโตรเจนอีกชนิดหนึ่งจากพืชผักเรียกว่า Phytoestrogen ที่พบปริมาณพอสมควรที่ช่วยสมดุลของฮอร์โมนนี้ในร่างกายคือ ถั่วเหลือง ซึ่งมีสาร Isoflavone ทั้งป้องกันกระดูกพรุนและป้องกันมะเร็ง เจ้าสารตัวนี้มีคุณสมบัติซับซ้อนพอสมควร ดังจะได้ทำความเข้าใจกันต่อไป
ความรู้จากคอลัมน์ธรรมชาติบำบัด โดย น.พ.บรรจบ ชุณหสวัสดิกุล, มติชนสุดสัปดาห์
Tweet
ป้ายกำกับ:
กระดูกพรุน,
แคลเซียม,
นมถั่วเหลือง,
เนื้อสัตว์,
ฟอสฟอรัส,
ออกกำลัง,
ฮอร์โมน
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น