สมุนไพร ดนตรี และความงามแห่งชีวิต
สมุนไพร กับ ดนตรีมีความเหมือนกันตรงที่ ต่างเกิดจากธรรมชาติ และมนุษย์เอามาปรุงแต่ง คัดสรรให้เกิดประโยชน์ ดนตรีนั้นเมื่อปรุงแต่ง ให้จังหวะ ใส่เนื้อหา ใส่ทำนองก็สามารถนำมาบรรเลงให้ความรื่นรมย์ต่อชีวิต สมุนไพร เมื่อเลือกสรร ปรุงแต่ง เรียนรู้วิธีที่ใช้ ก็นำมาใช้ประโยชน์ต่อชีวิตมากมายเช่นกัน
สมุนไพรกับดนตรียังมีความเหมือนในความต่างที่น่าสนใจอีกอย่างคือ ด้วยตัวสมุนไพรเองเป็นได้ทั้งยาและอาหาร เปรียบได้กับการรักษาและป้องกันได้ในเวลาเดียวกัน ขณะที่ดนตรีก็เป็นได้ทั้งเรื่องบันเทิงเริงรมย์และเป็นอาหารสมองหรือยารักษาโรคได้ด้วย
วิทยาการปัจจุบันค้นคว้าเรื่องสมุนไพรหลากหลายชนิดที่เป็นอาหารแล้วกลับได้ผลว่าเป็นยาดี เช่น ที่ได้รับความนิยมมากตลอดมาคือ ใบขี้เหล็ก อาหารไทยแท้ที่กลายเป็นยาที่พึ่งสำหรับคนนอนไม่หลับและผู้มีความเครียดติดตัว
ดนตรีก็เช่นกัน การศึกษาในศตวรรษ 20 บอกมนุษย์บนโลกเราว่า เสียงดนตรีไม่ได้มีไว้ฟังหย่อนใจอย่างเดียว ดนตรีในความถี่ระดับต่างๆ กันส่งผลต่อจิตใจและร่างกายของมนุษย์ สัตว์ และพืชพรรณต่างๆ ด้วย มีการศึกษาหลายชิ้นบันทึกไว้ว่า เพลงที่บรรเลงด้วยความไพเราะเพราะพริ้งกระตุ้นให้สัตว์เลี้ยง เช่น วัว มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นหรือมีปริมาณน้ำนมสูงขึ้น ไก่ออกไข่มากขึ้น กระทั่งพืชสวนพืชไร่ ไม้ดอกที่ได้ฟังดนตรีเพราะๆ ก็เจริญเติบโตดี ให้ดอกบานสะพรั่งอีกด้วย
วิทยาการใหม่ๆ ยังค้นพบต่อไปว่า เสียงดนตรีเพราะๆ (เพราะๆ เท่านั้น) ช่วยกระตุ้นให้สมองมนุษย์ทำงานดีขึ้น แล้วที่สำคัญช่วยส่งเสริมสุขภาพกายใจให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นด้วย จังหวะดนตรีไม่ว่าจะบรรเลงหรือมีเนื้อร้อง ที่มีจังหวะใกล้เคียงกับการเต้นของหัวใจมนุษย์ คือประมาณ 60 ถึง 80 ครั้งต่อนาที เป็นจังหวะที่ไม่เร้าใจขาโจ๋แต่ก็ไม่เฉื่อยชาเกินไป ถ้าได้ฟังด้วยระดับความดังไม่เกิน 60 เดซิเบลอย่างสม่ำเสมอ จะทำให้สมองของเราหลั่งสารแห่งความสุขหรือ เอนดอร์ฟิน (Endorphin) สารธรรมชาติอันน่ามหัศจรรย์นี้จะช่วยทำให้มนุษย์คลายความเครียดทั้งกายและใจได้ ช่วยให้จิตใจสงบ มีสมาธิ มีความสุข
สารแห่งความสุขยังส่งผลดีต่อระบบอวัยวะต่างๆ ของมนุษย์ ช่วยให้ทำงานดีขึ้น หรือในบางกรณีช่วยแก้ปัญหาโรคบางโรคได้ หรือแก้ปัญหาในเรื่องความดันโลหิต ระบบหายใจ ระบบหัวใจ ระบบขับถ่ายในกรณีคนปกติ การฟังดนตรีแนวนี้ก็เท่ากับส่งเสริมให้ระบบต่างๆ ของร่างกายทำงานดีขึ้น ช่วยให้ระบบภูมิป้องกันโรคแข็งแรงขึ้นด้วย
นอกจากนี้ ยังมีการค้นพบว่า ผู้ป่วยโรคปวดข้อมือข้อนิ้วที่แสนจะทรมาน เมื่อเขาได้เริ่มเล่นเครื่องดนตรีและเพลงที่ถูกใจ อาการเจ็บปวดหายเป็นปลิดทิ้งไปชั่วระยะเวลาหนึ่ง โดยไม่ต้องให้ยาแก้ปวดใดๆ เลย เพราะสารแห่งความสุขหลั่งออกมานั่นเอง
ในแง่ของสมุนไพร ที่ให้ความอภิรมย์จนเกิดสารหลั่งความสุข ที่มองในแง่ตัวยาแล้ว เห็นจะมีแต่ยาจำพวกกล่อมประสาทไปเลย เช่น ระย่อม ที่ต้องใช้จำนวนน้อยๆ และใช้อย่างระมัดระวัง มิฉะนั้นยาจะแรงเกินไป
แต่ถ้าจะใช้สมุนไพรแบบใช้ง่ายให้ผลดีและปลอดภัยสูง ก็คงจะแนะนำให้กินใบขี้เหล็กพร้อมอาหารมื้อเย็น หรือจะใช้แบบตำราโบราณที่นำมาดองกับสุรา หรือเป็นแนวใหม่ก็มีแบบตากแห้งบดผงใส่แคปซูล ใช้สะดวกให้ผลดี
ถ้าจะเป็นแบบบำรุงหัวจิตหัวใจให้สดชื่น เท่ากับลดความเครียดนั้น ก็สามารถใช้ศิลปะการชงชาจากสมุนไพรหลายชนิด เช่น เกสรดอกบัว หรือเกสรทั้งห้า ทั้งเจ็ด หรือใบเตยหอม ตากแห้งแล้วคั่วไฟให้หอมนำมาชงดื่ม
แต่ถ้าจะให้เกิดสารแห่งความสุขขนานแท้ในแง่สมุนไพร เห็นทีจะเป็นในแง่ของการปลูกต้นไม้ต้นยาสมุนไพรต่างๆ ที่ให้ความร่มรื่น ให้ดอกที่สวยงามพร้อมกลิ่นที่หอมชื่นใจ ซึ่งจะก่อให้เกิดความสงบสุขคลายเครียดได้ดีแล้ว กิจกรรมงานปลูกต้นไม้กลางแจ้งเท่ากับการออกกำลังกายให้แข็งแรง ซึ่งสอดคล้องกับวิชาดนตรีเพื่อสุขภาพ และชีวิตที่งดงามที่นอกจากประโยชน์ด้านจิตใจและระบบอวัยวะในร่างกายแล้ว การฝึกหายใจเพื่อร้องเพลงยังช่วยให้ร่างกายแข็งแรง เรียนรู้วิธีหายใจให้มีสุขภาพดีด้วย
ดนตรีจึงมิใช่แค่ดนตรี แต่มีความหมายต่อชีวิต สุขภาพ และความสงบเย็น และสมุนไพรก็มิใช่เพียงยา หากซ่อนมิติของความสวยงาม รื่นรมย์ของพืชพรรณให้สุขสงบ
ความรู้จากคอลัมน์ สมุนไพรเพื่อสุขภาพ โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งพาตนเอง มูลนิธิสุขภาพไทย(มติชนสุดสัปดาห์)
Tweet
วันเสาร์ที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2556
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น