วันจันทร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556
ป้องกันรักษาดวงตาด้วยธรรมชาติบำบัด
ปัญหาของดวงตา มี 2-3 ปัญหาที่ธรรมชาติบำบัดมีบทบาทช่วยป้องกันรักษาได้ดังนี้
ต้อกระจก
ต้อกระจกเป็นความเสื่อมตามอายุของเลนส์ตา เจ้ารังสีอัลตราไวโอเลตจะก่อให้เกิดอนุมูลอิสระขึ้นจำนวนมากมายมหาศาลตลอดเส้นทางที่ลำแสงผ่านไป อนุมูลอิสระที่เกิดขึ้นจะทำลายธรรมชาติของโปรตีนเลนส์ตา ก่อให้เกิดการขุ่นมัวขึ้น เหมือนไข่ขาวดิบมีอาการขุ่นขาวเมื่อถูกทำให้สุก จึงถือกันว่าคนเราทุกคนถ้าไม่ทันตายตั้งแต่ยังหนุ่มก็มีวันที่จะต้องลอกต้อกระจกวันใดวันหนึ่งเมื่อแก่ตัวลง
ความจริงที่น่าแปลกคือ หลวงปู่ธรรมวราซึ่งอาจถือได้ว่าเป็นบุคคลสำคัญคนหนึ่งที่นำเอาวิชาล้างพิษในลำไส้เข้ามาในประเทศไทย ได้ให้ความกรุณาสอนผมและคุณหมอลลิตา ซึ่งตอนนั้นรู้จักแต่วิชาฝังเข็มและเรื่องราวของการอดเพื่อสุขภาพให้รู้จักอีกมิติหนึ่งของการล้างพิษ คือการสวนล้างลำไส้ ทั้งได้กรุณามอบเครื่องสวนล้างลำไส้รุ่นที่ทันสมัยที่สุดจากอเมริกาให้กับศูนย์ธรรมชาติบำบัดบัลวี ผมได้มีโอกาสดูแลสุขภาพของท่านอยู่ระยะหนึ่งและพบว่าต้อกระจกของท่านถึงคราวสุกพอดีสำหรับการผ่าตัด จึงได้นำส่งท่านไปผ่าตัดต้อกระจกที่โรงพยาบาลรัตนิน
ครับ หลวงปู่ผู้เป็นนักธรรมชาติบำบัด เป็นนักพลังสด กินแต่ผักสดผลไม้และธัญพืชที่ไม่ผ่านไฟ รับการผ่าตัดต้อกระจกเมื่ออายุ 106 ปี ! อะไรกัน ทำไมเลนส์ตาของท่านจึงได้เสื่อมช้านัก เหตุผลอยู่ที่อาหารการกินของท่าน ผักสดผลไม้ที่อุดมด้วยสารต้านอนุมูลอิสระนั่นเอง
ปัจจุบันถ้าจะพูดถึงคุณค่าของอาหาร ตำนานเก่าที่จำแนกคุณค่าอาหารตามโครงสร้างทางชีวเคมีออกเป็น 5 หมู่เริ่มจะจางความนิยมลง เริ่มมีผู้พูดถึงคุณค่าอาหารเสียใหม่โดยดูจากบทบาทที่สำแดงต่อสุขภาพ เราเรียกบทบาทใหม่นี้ว่า Functional food ถ้าจะแปลเป็นไทยให้เหมาะ ๆ ก็ต้องใช้คำว่า "อาหารจรรโลงสุขภาพ" ตามทฤษฎีใหม่ในการมองอาหารเช่นนี้ พืชผักที่เคยรู้จักกันว่าเป็นแหล่งของเกลือแร่และวิตามิน สารสำคัญ 2 ใน 5 หมู่อาหาร เมื่อมองในบทบาทที่จรรโลงสุขภาพกลับพบว่า พืชผักมีสารที่สำแดงบทบาทต่อร่างกาย เรียกกันว่า Phytonutrient หรือ "สารยาจากผัก" หรือ "สารผัก" ที่สำแดงต่อร่างกายหลายประการ เช่น
1. เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ได้แก่ กลุ่มวิตามินเอ-เบต้าแคโรทีน วิตามินซี วิตามินอี เซเลเนียม ฯลฯ
2. เป็นสารต้านอนุมูลอิสระตัวเก่ง Super antioxidant สารกลุ่มนี้ออกฤทธิ์สูงกว่าวิตามินในระหว่าง 20-50 เท่า
3. เป็นสารกระตุ้นภูมิต้านทาน Immuno stimulant
4. เป็นสารป้องกันการกลายตัวเป็นมะเร็ง Blocking agent
5. เป็นสารที่ออกฤทธิ์เฉพาะ โดยสื่อสารกับร่างกายให้มีปฏิกิริยาสนองรับไปในทางใดทางหนึ่ง เช่น ยับยั้งการอักเสบ ลดความปวด ออกฤทธิ์เหมือนฮอร์โมนหรือแข่งกับฮอร์โมน เป็นต้น
กล่าวในแง่ผลต่อดวงตา มีสารผักที่ออกฤทธิ์ค่อนข้างเด่นต่อเลนส์ตา คือ เจ้าสารกลูตาไธโอน ซึ่งเป็นอนุมูลอิสระตัวเก่ง ผู้รักสุขภาพควรได้รู้จัก
กลูตาไธโอน เป็นสารประกอบของกรดอะมิโน 3 ตัวที่มาเกาะอยู่ด้วยกัน ได้แก่ ซีสเตอีน กลัยซีนและกรดกลูตามิก แท้จริงแล้วกลูตาไธโอนมีบทบาทต้านอนุมูลอิสระในน้ำนอกเซลล์ทั่วร่างกาย แต่มีบทบาทโดดเด่น 4-5 ประการ ดังนี้คือ
1. เฝ้าอยู่นอกเซลล์คอยจับอนุมูลอิสระที่เกิดขึ้นใหม่อย่างทันทีทันควัน แล้วสลายให้หมดฤทธิ์ไป
2. เฝ้าอยู่ในตับ คอยจับสารพิษต่าง ๆ ที่วนเวียนมาถึงให้หมดพิษไปแล้วส่งต่อให้วิตามิน C และ E จากนั้นเซลล์ตับค่อยกำจัดออกโดยไม่ต้องพิษของสารเคมีนั้น ๆ
3. เฝ้าอยู่ที่เม็ดเลือดแดง คอยป้องกันเนื้อเม็ดเลือดแดงไม่ให้ถูกพิษของออกซิเจนที่มันทำหน้าที่ลำเลียงขนส่ง
4. คอยต่อสู้กับเซลล์มะเร็ง คงระดับน้ำตาลในเลือดช่วยควบคุมเบาหวานและช่วยการสมานคืนของเซลล์สมองยามใดที่เกิดโรคลมปัจจุบัน จากอาการเส้นเลือดสมองแตก ตีบหรือตัน
5. ออกฤทธิ์ป้องกันการเสื่อมของเลนส์ตาโดยเป็นการเฉพาะ ป้องกันโรคต้อกระจก
(Mindell, Earl. What You Should Know About the Super Antioxidant Miracle.
Keat Publishing, Inc. USA. 1996)
เป็นที่รู้จักกันตั้งแต่ปี 1900 แล้วว่า ผู้คนที่เป็นต้อกระจกมักมีระดับกลูตาไธโอนในเลนส์ตาต่ำ การศึกษาชิ้นหนึ่งจากกลุ่มศึกษาโรคต้อกระจกแห่งชาติในสหรัฐพบว่า ในคนที่ระดับสารต้านอนุมูลอิสระตัวนี้สูง จะมีอัตราเป็นต้อกระจกลดน้อยลง 35%
นอกจากต้อกระจก ได้มีการค้นพบอีกว่า กลูตาไธโอนออกฤทธิ์ร่วมกับสารตัวอื่น เช่น เบตาแคโรทีน สังกะสี เซเลเนียม ทองแดง ซูเปอร์ออกไซด์ดิสมิวเดส และไรโบฟลาวิน ในการป้องกันจุดรับแสงที่จอตา ที่บริเวณดังกล่าวเป็นที่รู้กันว่า แสงตกกระทบจอตา ทำให้เกิดปฏิกิริยาเคมีกับเซลล์รับแสงและรับสีที่ตรงนั้น แล้วสื่อสารไปตามประสาทตาให้เกิดการเห็นภาพขึ้น แน่นอนล่ะว่า พื้นที่ตรงแสงตกกระทบนั้น จะมีกระบวนการออกซิเดชั่นเกิดขึ้นมากมาย และอนุมูลอิสระก็เกิดขึ้นเยอะเป็นเงาตามตัว การมีระดับของสารต้านอนุมูลอิสระทั้งแก๊งให้สูง ๆ ไว้ จะปกป้องดวงตาไว้ได้เป็นอย่างดี
ถึงตรงนี้คุณคงอยากที่จะมีระดับกลูตาไธโอนสูงแล้วใช่ไหม ก่อนอื่นต้องรู้ว่าอะไรบ้างทำให้กลูตาไธโอนลดลง มีดังนี้คือ ความชรา การมีโรคเรื้อรัง เช่น มะเร็ง ข้ออักเสบ การกินอาหารทอดน้ำมันซ้ำ ๆ หรือน้ำมันเหม็นหืน การรับยาหรือสารพิษสู่ร่างกายมาก ตับจะใช้สารนี้มากเพื่อขจัดพิษ การกินยาคุมหรือรับฮอร์โมนบำบัด
ทีนี้สิ่งที่เพิ่มระดับกลูตาไธโอน ได้แก่ การมีกรดอะมิโนซิสเตอีน กลัยซีนและกลูตามิกเพียงพอ โดยปกติร่างกายเราไม่ขาดกลัยซีนกับกลูตามิกอยู่แล้ว หน้าที่ของเราคือ พยายามรับแหล่งที่มาของซิสเตอีนเข้าไปเยอะ ๆ ซึ่งมีอยู่ในแตงโม หอมหัวใหญ่ กระเทียม วีตเจิร์ม เนื้อแดง ไข่ และที่โดดเด่นคือ พืชผักตระกูลกะหล่ำ ได้แก่ กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก บล็อกโคลี พืชตระกูลนี้กินเข้าไปแล้วก็ช่วยเพิ่มกลูตาไธโอนแก่ร่างกาย
ความรู้จากคอลัมน์ ธรรมชาติบำบัด (มติชนสุดสัปดาห์) โดย น.พ.บรรจบ ชุณหสวัสดิกุล Tweet
ป้ายกำกับ:
กลูตาไธโอน,
ดูแลรักษาดวงตา,
ต้อกระจก,
โรคตา
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น