อาหารกับสุขภาพ
มีหลายทฤษฎีที่อธิบายถึงอาหารที่ส่งอิทธิพลต่อจิตใจ ได้แก่ ทฤษฎีวงจรพลังงาน ทฤษฎีอนุมูลอิสระ และทฤษฎีพลังงานแห่งชีวิต
ทฤษฏีวงจรสร้างพลังงาน
เป็นวงจรทางชีวเคมีที่ค้นพบโดยนักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษคือ เซอร์ ฮัน อดอล์ฟ เคลบส์ ผู้มีชีวิตอยู่ในระหว่างปีค.ศ.1900-1981 เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ในปี 1953
วงจรเคมีนี้ได้รับการตั้งชื่อว่า Krebs'Cycle ตามชื่อของเขา วงจรนี้บอกเราว่า ในเซลล์ทุกเซลล์ทั่วร่างกายต่างมีวงจรเคมีที่คอยสร้างพลังงานให้กับตัวเองเปรียบเสมือนโรงไฟฟ้าที่คอยปั่นไฟให้กับบ้านเมือง เราจะต้องเติมเชื้อเพลิงและน้ำมันหล่อลื่นเครื่องจักร เซลล์ของเราก็เช่นกัน วงจรเครบส์จะผลิตพลังงานออกมาได้ต้องมีเชื้อเพลิงคือ คาร์โบไฮเดรต ได้แก่น้ำตาลและแป้งที่เรากินเข้าไปแล้วส่งให้เซลล์ วงจรนี้ยังต้องการโคเอนไซม์หรือวิตามินต่าง ๆ เช่น วิตามินบี 2, บี 12, บี 6, ไนอาซิน, แพนโธเทนิก เป็นต้น เพื่อคอยทำหน้าที่กระตุ้นให้วงจรดำเนินไปได้โดยราบรื่นอีกด้วย เมื่อใดที่โรงจักรได้รับแต่เชื้อเพลิง ไม่ได้น้ำมันหล่อลื่น เมื่อนั้นเครื่องจักรก็ฝืดไม่อาจปั่นไฟต่อไปได้ เช่นเดียวกับเซลล์เราถ้าได้รับแต่แป้งและน้ำตาลโดยไม่มีวิตามิน มันก็ไม่อาจสร้างพลังงานให้เราได้ใช้เช่นเดียวกัน
เราต้องรู้ว่า สมองและระบบประสาทของเราที่มีปริมาตรแค่ 5% แต่เวลาใช้สมองหรือความคิด สมองและระบบประสาทของเราต้องใช้วิตามินถึง 20% ที่ใช้อยู่ทั่วร่างกายเลยทีเดียว ด้วยเหตุนี้ ในระหว่างเซลล์กลุ่มต่าง ๆ ทั่วร่างกายนั้นเซลล์สมองจะไวต่อภาวะขาดแคลนวิตามินได้ไวกว่าอวัยวะอื่น ๆ เมื่อใดที่เรากินอาหารประเภทข้าวขาว แป้งขัดขาว น้ำตาลฟอกขาวทั้งหลายแหล่ มันจะถูกย่อยเป็นน้ำตาลล้วน ๆ แล้วป้อนเข้าสู่เซลล์ทั่วร่างกาย เซลล์กล้ามเนื้อจะเผาน้ำตาลหมดไปอย่างรวดเร็วโดยใช้วิตามินที่อาจเหลืออยู่ตามซอกตามมุมของเซลล์เอง หรือไม่พอก็หยิบยืมมาจากเซลล์อื่น ๆ โดยเฉพาะจากเซลล์สมองและประสาท เมื่อทำอย่างนี้บ่อย ๆ เซลล์สมองและประสาทก็สูญเสียวิตามินไปเรื่อย ๆ ทำให้ตัวมันเองขาดแคลนวิตามินขึ้นมา ผลก็คือ สมองและประสาทไม่สามารถทำงานได้เป็นปกติ เกิดเป็นความเครียดขึ้น ส่งผลให้หงุดหงิด อารมณ์ฉุนเฉียว นอนไม่หลับ หลงลืม ความจำเสื่อม ทำงานอย่างไม่มีสมาธิ เช่นเดียวกับกรณีคนที่เลี้ยงสุนัขด้วยน้ำตาลเพื่อให้สุนัขดุ เพราะสุนัขเหล่านี้จะมีภาวะพร่องวิตามินไปทีละน้อยส่งผลให้อารมณ์ฉุนเฉียวง่ายกลายเป็นสุนัขที่ดุอย่างมหาวายร้าย การกินน้ำตาลฟอกขาว แป้งขัดขาว น้ำอัดลมขนมของหวานจึงเป็นอาหารกระตุ้นเร้าทำลายพลังสร้างสรรค์ของผู้ดื่มกิน ตรงกันข้ามกับการกินข้าวกล้อง ธัญพืชหรือแป้งธรรมชาติประเภทคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน เซลล์ร่างกายจะได้รับทั้งเชื้อเพลิงและน้ำมันหล่อลื่นไปป้องวงจรเครบส์ภายในเซลล์ ทำให้สมองและระบบประสาทของเรามีพลังงานในการทำงานอย่างพรักพร้อม
ทฤษฎีอนุมูลอิสระ
อนุมูลอิสระ คือโมเลกุลหรืออะตอมที่อิเล็กตรอนชั้นนอกสุดของมันขาดคู่อิเล็กตรอนไปตัวหนึ่ง มันจะเที่ยววิ่งแสวงหาอิเล็กตรอนจากสิ่งแวดล้อมรอบ ๆ ตัวมัน ก็จะเกิดการสูญเสียอิเล็กตรอนและกลายเป็นอนุมูลอิสระกันเป็นลูกโซ่ ปฏิกิริยาลูกโซ่นี้เปรียบเสมือนระเบิดปรมาณูเล็ก ๆ ที่เกิดขึ้นในระดับเซลล์ของเรา ทำให้เซลล์สูญเสียการทำงานไป เกิดโรคต่าง ๆ ขึ้น อาหารหลายอย่างที่คนนิยมกินกันเช่น อาหารดัดแปลง อาหารทอด ขนมกรุบกรอบ บะหมี่ซองเหล่านี้ผ่านกระบวนการทอดมาซ้ำ ๆ จากเครื่องจักรในโรงงานที่ทอดวันละกี่หมื่นซองต่อวัน น้ำมันส่วนใหญ่ก็เป็นน้ำมันปาล์ม เมื่อทอดซ้ำ ๆ กรดไขมันไม่อิ่มตัวในน้ำมันพืชจะจับตัวกับออกซิเจนในอากาศ แตกตัวเป็นอนุมูลอิสระตกค้างอยู่ในน้ำมันและอมอยู่ในอาหารเหล่านี้ เมื่อกินเข้าไปจึงเสื่อมสุขภาพ
นอกจากนี้อาหารดัดแปลงที่ใส่สี กลิ่น สารกันบูดและผงชูรส สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสารเคมี ไม่ก่อเกิดประโยชน์แก่เซลล์ร่างกาย เป็นขยะอยู่ในเซลล์ ร่างกายจึงต้องขจัดออกด้วยโรงงานขยะที่มีอยู่ในตัวเรา 2 โรงคือ ตับและไต ไตต้องทำหน้าที่กรองสารเสียเหล่านี้ออกไป นาน ๆ เข้าไตที่ทำงานหนักก็เกิดสภาพไตวาย ส่วนตับทำหน้าที่สลายสารเคมีด้วยกระบวนการทางชีวเคมีซึ่งมีหลายกระบวนการ ที่สำคัญก็คือกระบวนการออกซิเดชั่น อันเป็นผลให้เกิดอนุมูลอิสระเป็นผลพวงสุดท้ายของการกำจัดขยะในโรงงานของตัวเอง ตับจึงเป็นอวัยวะที่ช่วยเหลือเซลล์อื่นทั่วร่างกาย ขจัดสารเคมีที่มากับอาหารขยะแต่ตัวเองต้องพิษจากอนุมูลอิสระ นาน ๆ เข้าตับก็พังกลายเป็นมะเร็งตับ อาหารเหล่านี้รวมถึงเครื่องดองของเมาด้วย
ขณะเดียวกัน เราจะเห็นว่าถ้ากินข้าวกล้องที่อุดมด้วยวิตามินอี ผักสดผลไม้สีสันอุดมด้วยวิตามินซีและวิตามินเอ-เบต้าแคโรทีน ส่วนใครกินน้ำพริกผักจิ้มก็ได้เซเลเนียมจากกระเทียม แถมกินผักพื้นบ้านยังได้สารผัก (phytonutrients)ซึ่งมีฤทธิ์เป็นซูเปอร์แอนติออกซิแดนท์ยับยั้งการเกิดมะเร็ง เป็นสารกระตุ้นภูมิต้านทานอีกมากมาย
แบ่งปันความรู้จากคอลัมน์ ธรรมชาติบำบัด, มติชนสุดสัปดาห์ โดย นพ.บรรจบ ชุณหสวัสดิกุล
Tweet
วันจันทร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น