การแพทย์แผนจีน - ความรู้เบื้องต้น
ในซีกโลกตะวันออก การแพทย์แผนจีนเป็นธรรมชาติบำบัดที่โดดเด่น การแพทย์แผนจีนมีหลักการพื้นฐานว่าด้วยสรรพสิ่งประกอบด้วย "หยิน-หยาง" เช่น ร้อนกับเย็น หญิงกับชาย ในตัวคนเราก็มีหยินและหยาง
กำเนิดชีวิตตามการแพทย์แผนจีนมาจากสารที่เรียกว่า "จิง" ซึ่งเก็บไว้ที่ไต โดยจีนถือว่าไตเป็นรากฐานชีวิต มีแรงผลักดันจากสารจิงในไต
สารจิง จำแนกได้เป็น 2 อย่างคือ สารที่มีมาแต่กำเนิดจากเชื้อสืบพันธุ์ของพ่อแม่ และสารที่ได้มาหลังกำเนิดซึ่งได้จาก อาหาร ลมหายใจและความรู้สึกนึกคิด สารจิงที่ได้มาหลังกำเนิดจะช่วยหล่อเลี้ยงสารแต่กำเนิดไม่ให้พร่อง สารจิงที่เก็บไว้ที่ไตมีพลังงานศักย์อันมหาศาล ซึ่งจะเคลื่อนไหวแล้วปลดปล่อยเป็นพลังงานจลน์ออกมา 3 ชนิดคือ
1.พลังชี่ (หรือลมปราณในความหมายของอายุรเวททางอินเดียและแพทย์แผนไทย) ทำหน้าที่ขับเคลื่อนเลือดลมไปทั่วร่างกาย
2. พลังไฟมิ่งเหมิน (หรือพลังกุณฑาลินีในความหมายทางโยคะ) อยู่ในรูปของพลังงานความร้อน อวัยวะภายในจะทำงานได้ต้องได้รับพลังความร้อนของไฟมิ่งเหมินนี้ หากไฟนี้เสื่อมร่างกายจะมีอาการตัวเย็น อาหารไม่ย่อย ปวดหลัง ปวดเอว ปัสสาวะบ่อย บวมน้ำ น้ำท่วมปอด
3.พลังเทียนกุ่ย เป็นพลังทางเพศ สมรรถนะทางเพศของชายและหญิงจะสมบูรณ์ได้โดยการกระทำของเทียนกุ่ย เมื่อชราภาพมาเยือนพลังเทียนกุ่ยจะค่อย ๆ เหือดแห้งลง ผู้หญิงจะหมดประจำเดือน ผู้ชายจะค่อย ๆ หมดสมรรถนะทางเพศ
พลังดังกล่าวทั้งสามยังมีทั้งในรูปของพลังหยางและพลังหยินที่ได้สมดุลกัน สารจิงที่ไตนี้จะปลดปล่อยพลังทั้ง 3 ผ่านเส้นโคจรพลัง (meridian) 20 เส้น ไตยังส่งอิทธิพลไปยังอวัยวะสำคัญอีกหลายแห่งได้แก่ หัวใจ ปอด ม้ามและตับ ไตจึงเป็นรากฐานของชีวิต
ความรู้จากคอลัมน์ ธรรมชาติบำบัด (มติชนสุดสัปดาห์) โดย นพ.บรรจบ ชุณหสวัสดิกุล
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น