Come and enjoy lovely coffee shop and restaurant with great breeze of Chao Phraya River plus lush green garden,near Rama V bridge and Nonthaburi Pier ร้านกาแฟ เบเกอรี่ อาหารกลางวัน ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ช่วงสะพานพระราม5 และท่าน้ำนนท์ บรรยากาศสไตล์บ้านสวน ชมวิวรับลมแม่น้ำ

วันพฤหัสบดีที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2556


"เจียวกู้หลาน" ชาบำบัดโรค

ชื่อวิทยาศาสตร์: Gynostemma pentaphyllum (Thunb.) Makino
ชื่อไทย: ปัญจขันธ์, เบญจขันธ์, ชาสตูล
ชื่อจีน: Jiaogulan (twisting-vine-orchid) เซียนเช่า ซียันเช่า ซีเย่ตัน
ชื่อยุโรปและสหรัฐอเมริกา: Southern ginseng, 5-leaf ginseng
ชื่อญี่ปุ่น: Amachasuru (ชาหวานจากเถา)

          การดื่มชาเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นคนจีน ญี่ปุ่น อังกฤษ แขกอินเดียหรืออาหรับ  ล้วนมีวิถีวัฒนธรรมการดื่มชาเป็นของตนเอง  กล่าวกันว่า มนุษย์ในโลกนี้รู้จักการดื่มชามานานกว่า 5,000 ปี  ทั้งดื่มเป็นเครื่องดื่ม เพื่อความรื่นรมย์และเพื่อเป็นยา
          คนจีนและแขกดื่มชาเพื่อละลายไขมันจากอาหารที่บริโภคเข้าไป  ศัลยา คงสมบูรณ์เวช 
ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนบำบัดกล่าวว่า ชาทุกชนิดมีสารต้านอนุมูลอิสระที่มีฤทธิ์สูง  โดยเฉพาะฟลาโวนอยด์ ซึ่งมีคุณสมบัติในการป้องกันโรคได้หลายโรค
          นักวิจัยชาวเนเธอร์แลนด์พบว่า ผู้ที่ได้รับสารฟลาโวนอยด์อย่างสม่ำเสมอจะมีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจหลอดเลือดลดลงถึง 68%  ซึ่งสารที่ว่านี้พบมากในชาดำ หัวหอมและแอ๊ปเปิ้ล
          องค์การอาหารและเกษตรสหรัฐฯ รายงานการวิจัยว่า การดื่มชาดำวันละ 5 ถ้วยช่วยลดแอลดีแอลหรือคอเลสเตอรอลที่ชอบไปเกาะตามผนังหลอดเลือดลดลงถึง 11.1%  ส่วนการวิจัยในบอสตันระบุว่า ผู้ที่ดื่มชาดำวันละถ้วยจะช่วยลดความเสี่ยงจากหัวใจวายได้ถึง 44% เมื่อเทียบกับคนที่ไม่ดื่มชา
          การศึกษาด้านคลีนิกและเภสัชในต่างประเทศและในจีนพบว่า เจียวกู้หลานเป็นสมุนไพรที่ใช้รับประทานเป็นประจำได้โดยไม่ต้องกังวลว่าจะมีผลข้างเคียงเช่นโสมหรือสมุนไพรบางชนิด ไม่ว่าจะใช้ทั้งต้นหรือสกัดออกมาซึ่งประกอบด้วยตัวยามากกว่า 50 ชนิด 
          ปัจจุบันกระแสการดื่มชาเป็นที่นิยมแพร่หลายพอๆ กับกาแฟ  มีหลากหลายชนิดเลือกได้ตามรสนิยม  ถ้าชาดำขมไปก็มีชาเขียว ชาขาว ชาดอกไม้ ชาผลไม้และชาสมุนไพร
          เจียวกู้หลาน เป็นชาอีกชนิดหนึ่งที่ได้รับความนิยมแพร่หลาย  โดยเฉพาะการนำมาใช้เพื่อป้องกัน ยับยั้งและบำบัดโรคหลายชนิด  มีคุณสมบัติในการส่งเสริมธาตุหยินและหยางของร่างกาย  ปรับสมดุลของร่างกายและความดันโลหิตทั้งสูงและต่ำ  สร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย  ผ่อนคลายความเครียด
          เจียวกู้หลานเป็นพืชต่างสายพันธุ์กับโสม  แต่มีสารซาโปนินที่มีโครงสร้างโมเลกุเหมือนกับโสม  มีคุณสมบัติลดอาการป่วยจากโรคตับอักเสบและเบาหวาน  โดยช่วยกระตุ้นการสร้างอินซูลินจากตับอ่อน
          เจียวกู้หลานมีสารซาโปนิน 82 ชนิด เรียกว่า Gypenosides 1-82 ซึ่งมากกว่าที่มีในโสม 3-4 เท่า  ในจำนวนนี้มี 4 ชนิดที่เหมือนกับที่พบในโสมคนคือ Ginsenosides, Rb 1, Rd และ F3 และอีก 17 ชนิดมีคุณลักษณะคล้ายโสม  คุณสมบัติทางยาดีกว่าที่พบในโสมอื่นๆ โดยเฉพาะไม่มีพิษและไม่มีอาการแพ้จากการบริโภค
          ผลการวิจัยของจีนและญี่ปุ่นพบสรรพคุณตรงกันว่า มีสารที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ช่วยให้นอนหลับ ลดระดับไขมันในเลือด เสริมระบบภูมิคุ้มกัน ยับยั้งการเจริญของเซลล์มะเร็งบางชนิด  ต้านการอักเสบและลดระดับความดันโลหิตสูง  รวมทั้งลดระดับน้ำตาลในเลือด
          ข้อพิสูจน์ทางการแพทย์ที่มีการเผยแพร่ผ่านเอกสารทางวิชาการจำนวนมากยืนยันว่า เจียวกู้หลานสามารถป้องกันโรคเบาหวาน ไขมันในเส้นเลือด โรคมะเร็งในกระเพาะอาหารและลำไส้  ช่วยลดอาการไตวายและอาการปวดหัวข้างเดียวหรือไมเกรนได้
          ควรดื่มชาเจียวกู้หลานหลังอาหารเช้า กลางวันหรือเย็น  หรือดื่มก่อนนอนจะช่วยทำลายอาหารตกค้างในอาหารที่ไม่สะอาด ย่อยสลายไม่หมด ขับสารพิษในกระเพาะอาหารและลำไส้
          การชงชาเจียวกู้หลาน ชาดอกไม้ ชาดำ ชาแดง ชาอูหลง ควรชงด้วยน้ำร้อนจัดถึง 100 องศาเซลเซียส เพื่อให้ใบชาคลายรสชาติที่ดีออกมา  มีเพียงชาเขียวที่ไม่ควรชงด้วยน้ำเดือดเพราะจะทำลายรสชาติความสดของชา

ที่มา:  นสพ.ไทยรัฐ, 5 พฤษภาคม 2555 และ Health Journal Balance issue 7

วันพฤหัสบดีที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2556

อาหารบางชนิดที่ผู้คนมักมองว่าไม่ดีกับสุขภาพ

            แต่ถ้ารู้จักเลือกผลิตภัณฑ์ ปริมาณและความถี่ที่จะรับประทาน  เราก็จะได้ประโยชน์มากกว่าโทษ
            ชีส
            ชีสอุดมด้วยไขมันและแคลอรี แต่ก็เป็นแหล่งสำคัญของโปรตีน  แคลเซียม ฟอสฟอรัส สังกะสีและวิตามินบี 12   มีวิตามินดีและแมกนีเซียมซึ่งทำงานร่วมกับแคลเซียมซึ่งจำเป็นต่อร่างกายอย่างยิ่ง  มีกรดอะมิโนที่จำเป็นต่อการทำงานของร่างกายและกรดไลโนเลอิกโมเลกุลคู่ซึ่งเป็นไขมันประเภทดี  มีปริมาณน้ำตาลน้อย  เลือกชีสชนิด Strong-flavored เช่น เฟต้าชีส บลูชีส และชีสพาร์เมซานสด (ไม่ขูด)  ซึ่งจะใช้ในปริมาณน้อยหากนำไปปรุงอาหาร   ข้อควรระวังสำหรับผู้มีภาวะความดันโลหิตสูงคือ ชีสมักมีปริมาณเกลือสูง  ให้ดูประเภทโซเดียมต่ำ (Low sodium)  และถ้าเลือกชีสประเภทไขมันต่ำ เรามักโน้มเอียงที่จะกินปริมาณมากขึ้น  เช่นเดียวกับชีสไม่มีไขมันซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีรส  อาจเผลอใส่ปริมาณมากเพื่อให้อร่อยขึ้น  สรุปคือ ต้องดูรายละเอียดในฉลากผลิตภัณฑ์เลือกที่ปริมาณโซเดียมและไขมันต่ำและต้องจำกัดปริมาณที่แน่นอนแต่แรกห้ามใส่เพิ่มเพียงเพื่อรสชาติความอร่อย

             ช็อกโกแลต
             คนมักบอกว่าช็อกโกแลตเป็นสาเหตุของสิวและความอ้วน  ที่จริงช็อกโกแลตมีสารต้านการเกิดมะเร็งและโรคหัวใจเช่นเดียวกับในผักและผลไม้   เว้นแต่ว่ามีไขมันสูงกว่าเท่านั้น  ช็อกโกแลตยังเพิ่มสารเซโรโทนินในสมองทำให้หายหดหู่อารมณ์ดีขึ้น  ดูส่วนประกอบที่ฉลากว่ามีสัดส่วนอย่างไรเลือกดาร์กช็อกโกแลต  ช็อกโกแลตยิ่งเยอะก็หมายความว่าใส่โกโก้บัตเตอร์ซึ่งอุดมด้วยไขมันน้อยลง  หลีกเลี่ยงช็อกโกแลตที่ผสมคาราเมล มาร์ชเมลโลว์ และไขมันและน้ำตาลที่ทำให้อ้วน

              เนื้อสัตว์
              เนื้อสัตว์ทุกชนิดเป็นแหล่งใหญ่หลักๆ ของโปรตีนและสารอาหารที่ร่างกายต้องการ  แต่หากบริโภคในปริมาณมากเป็นหลักหรือล้นเกินก็มีผลเสียกับสุขภาพหลายประการทีเดียว  เลือกเนื้อวัวหรือเนื้อหมูที่มีปริมาณไขมันแทรกอยู่น้อย(เนื้อโคนขาหรือสะโพก)  เนื้อซี่โครงและทีโบนมีไขมันและแคลเลอรี่มากเป็นเท่าตัวของส่วนอื่น  เลือกเนื้อไก่ที่ไม่มีหนังและไม่มีมันยังดีกว่าเนื้อสีแดง  และควรบริโภคน้อยครั้ง  ที่ดีที่สุดและควรบริโภคมากกว่าเนื้อชนิดอื่นคือ ปลา  นอกจากโปรตีนจากเนื้อสัตว์แล้วเราใช่ไข่ซึ่งเป็นแหล่งโปรตีนที่ดีเช่นกัน ในผู้สูงอายุที่มีปัญหาสุขภาพหรือโคเลสเตอรอลจากอาหารสูง  เลือกให้ไข่ขาวเิพิ่มสำหรับเพิ่มปริมาณโปรตีนในการช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอแทนเซลล์ที่เสียไปทุกวัน

              กาแฟ
              มีการวิจัยเร็ว ๆ นี้ให้ผลว่า กาแฟไม่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคหัวใจ  เนื้อเยื่อในหน้าอกผิดปกติ หรือความดันโลหิตสูง  แต่คาเฟอีนช่วยบรรเทาอาการแพ้ ทำให้กระฉับกระเฉงและสมาธิดีขึ้น  หากดื่มไม่เกิน 2 แก้วต่อวันขึ้นอยู่กับปริมาณกาแฟหรือความเข้มที่ใส่  ระวังครีมเทียมหรือนมกับน้ำตาลที่ใส่ให้มาก  เลี่ยงกาแฟแก้วใหญ่ๆ ที่มีครีมเทียมหรือนมข้นหวาน นมข้นจืด น้ำตาลและวิปครีมที่ให้พลังงานและไขมันไม่ต่ำกว่า 300 แคลอรี่ซึ่งเท่ากับอาหารจานเดียวถึง 1 จาน

             ถ้าทุกคนระวังและหลีกเลี่ยงได้ตามนี้  เราก็ยังจะได้รับประทานของอร่อยหรือไม่ต้องหลีกเลี่ยงอาหารที่มีเป็นปกติในชีวิตประจำวัน และไม่ทำลายสุขภาพด้วย

วันเสาร์ที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2556


TAKING A WOMAN TO BED
What is the difference between girls/women 
aged 8, 18, 28, 38, 48, 58, 68, and 78 ?

At 8...  You take her to bed and tell her a story.
At 18... You tell her a story and take her to bed.
At 28... You don't need to tell her a story. Take her to bed.
At 38... She tells you a story and takes you to bed.
At 48... She tells you a story to avoid going to bed.
At 58... You stay in bed to avoid her story.
At 68... If you take her to bed, that'll be a story.
At 78... What story ? What bed ? Who is he ?

ขำขำ จาก "เรียนภาษาอังกฤษกับโจ๊ก Joke" จาก คู่สร้างคู่สม



วันอังคารที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2556

  น้ำพริก
(ตอนต่อ)
 
           น้ำพริกเบสิค หรือน้ำพริกมาตรฐานตอนที่แล้วเป็นน้ำพริกสำหรับจิ้มผักดิบรับประทานกับปลาทูทอดซึ่งรู้จักกันทั่วไป เพราะจะมีในสำรับกับข้าวคนไทยเกือบทุกบ้าน  อย่างที่กล่าวไปแล้วว่าน้ำพริกนั้นมีมากมายหลายอย่างเกินกว่าจะกล่าวถึงได้หมด  การจะตำน้ำพริกอื่นๆ ให้มีรสชาติแปลกออกไป  จะต้องมีเครื่องปรุงของน้ำพริกมาตรฐานนี้เตรียมไว้  แล้วถึงดูว่าจะตำน้ำพริกอะไร ต้องเพิ่มอะไรเข้าไปหรือต้องถอดอะไรออก  เช่น ถ้าเกิดเบื่อผักดิบขึ้นมา  จะใช้ผักต้มจิ้มน้ำพริก  ก็ตำน้ำพริกสูตรมาตรฐานนี้เพียงแต่ผสมปรุงรสให้เหลวกว่าน้ำพริกชนิดอื่น  โดยใส่เกลือแต่น้อยใช้น้ำมะนาวและน้ำปลาให้มาก  ถ้าเหลวไม่พอก็อาจใส่น้ำเพิ่มได้  
           สำหรับผักต้มจิ้มน้ำพริกนั้น ถ้าให้มีความโรมานซ์ พิเศษเพิ่มไปอีก  ให้เอาหัวกะทิตั้งไฟให้เดือดพอจะเป็นขี้โล้ตักเหยาะลงในน้ำพริกนิดหน่อย  น้ำพริกจะรสนุ่มนวลและดูน่ากินขึ้น  ถ้ายังไม่หนำใจและให้พิเศษกว่านั้น ให้เผาพริกชี้ฟ้าเขียวแดงเหลืองแล้วฉีกเป็นชิ้นๆ โรยหน้าลงไป  หัวกะทินี้ยังใช้หยอดหน้าผักต้มด้วย เช่นมะเขือ หน่อไม้สด ข้าวโพดอ่อน ยอดฟักทอง หัวปลี ผักกะเฉด ผักบุ้ง ดอกแค มะระขี้นก และอื่นๆ ตามชอบ
           น้ำพริกผักดอง  คนรุ่นใหม่มักไม่ค่อยรู้จักกัน  แต่เป็นน้ำพริกที่ดิฉ้นเห็นแม่ทำกินมาแต่เด็ก  น้ำพริกที่ใช้คือน้ำพริกมาตรฐานนั่นเอง แต่เมื่อใช้ผักดองอันเป็นของเปรี้ยวจิ้ม  น้ำพริกก็ต้องตำให้อ่อนเปรี้ยวลง คงรสเค็มกับหวานไว้  มิฉะนั้นจิ้มผักดองแล้วจะมีรสเปรี้ยวมาก  ใครที่ใส่น้ำตาลในน้ำพริกไม่ค่อยเป็นคงต้องหัดทำหมูหวานไว้แนมจะอร่อยขึ้นมาก
           สำหรับน้ำพริกผักทอด ส่วนใหญ่และให้ง่ายใช้มะเขือยาวหรือชะอมชุบไข่ทอด  น้ำพริกก็ให้เหลวหน่อยและให้มีรสเปรี้ยวเค็มหวานทั้งสามรสเท่าๆ กัน  นอกจากนี้เห็นจะเป็นใบผักและดอกที่ชุบแป้งทอด ที่เคียงกับขนมจีนน้ำพริกคือ ดอกโสน ดอกขจร ดอกเข็ม พวงชมพู ใบทองหลาง ใบผักบุ้ง ใบเล็บครุฑ  
            น้ำพริกมะขาม  น้ำพริกครกนี้ตัดมะนาวออกไปได้เลย ทั้งน้ำพริกใบและดอกมะขามสด  น้ำพริกมะขามสดและน้ำพริกมะขามเปียก นอกเสียจากว่าตำเสร็จแล้วยังเปรี้ยวไม่หนำใจค่อยเติมมะนาวอีกได้  สำหรับน้ำพริกส้มมะขามเปียกใช้พริกแห้งตำ  และรับประทานกับช่อมะม่วง มะม่วงขบเผาะและหรือผักอื่น  ปลาทูนึ่งทอดหรือปลาดุกย่างฟูและหมูหวาน   น้ำพริกมะขามเปียกนี้ หากใส่กากหมูลงไปแล้วผัดน้ำมันให้หอมดี  ใช้รับประทานกับทองหลางใบมนหรือใบลายทอด  และจะมีไข่เค็ม หมูหวาน หรือปลากุเราทอด อย่างใดอย่างหนึ่งหรือทุกอย่างเป็นเครื่องแนม
            น้ำพริกบางอย่างใช้ของที่มีรสเค็มใส่เป็นของสำคัญและเรียกชื่อน้ำพริกตามนั้น  ก็อิงน้ำพริกมาตรฐานแต่ว่าชักกะปิออก เช่น น้ำพริกลูกหนำเลี๊ยบใช้เนื้อลูกหนำเลี๊ยบลงตำแทนกะปิ  ก็จะได้น้ำพริกแปลกๆ อีกครก  หรือน้ำพริกเต้าหู้ยี้ก็ใส่เต้าหู้ยี้แทนกะปิ  แต่สองอย่างนี้ไม่อร่อยเท่าน้ำพริกกะปิ  อาจลองตำชิมแก้เบื่อ  หรือถ้ายังอยากดัดจริตต่อไปอีก  ก็เอาข้าวสวยร้อนๆ และน้ำพริกมาตรฐานลงคลุก แล้วแกะเนื้อลูกหนำเลี๊ยบหรือเต้าหู้ยี้ลงคลุกเพิ่ม ก็จะได้รสอร่อยอย่างใหม่ขึ้นมาอีก  อะไรที่ยังไม่อร่อยถูกใจแนมด้วยหมูหวานเสียก็จะอร่อยได้ดังใจ 
            นอกจากนี้ยังมีน้ำพริกเต้าเจี้ยว  สมัยนี้มีเต้าเจี้ยวญี่ปุ่นขายกันมากมาย  ซึ่งตำได้อร่อยง่ายกว่าเต้าเจี้ยวจีนซึ่งมีหลายชนิดต้องเลือกดู  อาจต้องทดลองไปทีละอย่าง  ครกนี้ตัดกะปิและน้ำปลาเด็ดขาดเพราะเต้าเจี้ยวเค็มอยู่แล้ว ถ้าตำเสร็จแล้วยังเค็มไม่พออาจเติมเกลืออีกเพียงเล็กน้อยเท่านั้น  รับประทานกับมะเขือยาวเผาและผักสดอื่นเช่น ยอดผักบุ้งไทย มะเขือเปราะและขมิ้นขาว  สำหรับปลาใช้ปลาดุกย่างทอด ปลาช่อนหรือปลาอื่นที่มีเนื้อมากๆ ทอดให้ฟูก็ได้
            มีน้ำพริกอีกบางรายการที่ไม่ได้ใส่กะปิ ในกรณีที่เบื่อน้ำพริกกะปิ เป็นการหนีความจำเจชั่วคราว เช่น น้ำพริกปลากุเรา  ให้โขลกกุ้งแห้งกับกระเทียม  เอาปลากุเราปิ้งไฟพอสุกแกะเอาแต่เนื้อลงโขลกด้วยกันแล้วจึงใส่พวกมะอึก น้ำตาลปึก มะนาว พริกขี้หนู พริกชี้ฟ้า   รับประทานกับปลาดุกย่างหรือปลาช่อนทอดและผักอื่น  ให้อร่อยตามฤดูกาลคือมะม่วงขบเผาะที่ร่วงใต้ต้น  หน้ากระท้อนก็รับประทานกับกระท้อน หรือชมพู่ที่เนื้อกรอบๆ
            น้ำพริกเมืองเหนือมักใช้ถั่วเน่าหรือปลาร้าแทนกะปิภาคกลาง  นอกเสียจากคนภาคกลางหาถั่วเน่าไม่ได้อาจใช้กะปิเพียงเล็กน้อยแทนถั่วเน่า แค่พอมีกลิ่นเท่านั้นที่   น้ำพริกอ่องใช้พริก กระเทียม มะเขือเทศและหมูสับเป็นหลัก  รับประทานกับผักสดได้หมด   น้ำพริกข่ารับประทานกับเห็ดนางฟ้าต้มสุก   น้ำพริกหนุ่มใช้พริกหนุ่มเผา(ไม่ใช่พริกชี้ฟ้า) กระเทียมและหอมแดงเอามาเผาก่อนตำ รสออกเผ็ดและเค็มเท่านั้น  รับประทานกับแตงกวาสดและผักลวกผักนึ่งได้หมด  อาจมีหมูหรือไก่ทอดไว้แก้เผ็ดและที่ขาดไม่ได้คือ ข้าวเหนียวเอาไว้จิ้มน้ำพริกกินได้อีก  น้ำพริกอีกอย่างที่จะพูดถึงนี้ดิฉันนึกอยากตั้งแต่ได้อ่านเจอ นั่นคือ น้ำพริกขี้กา เครื่องปรุงมีเพียงกุ้งแห้งป่นหรือปลากรอบปิ้งไฟแล้วป่น กระเทียมกับพริกชี้ฟ้าถ้าเผาได้จะหอมกว่า น้ำปลา น้ำมะนาวและน้ำตาลเท่านั้น รับประทานกับข้าวสวยร้อนๆ และผักสด
            น้ำพริกที่ใช้ผลไม้รสเปรี้ยวตำนั้น ส่วนใหญ่เป็นน้ำพริกผัด  ยกเว้นน้ำพริกมะม่วง  น้ำพริกผัดถ้าให้อร่อยจริงโดยไม่นึกถึงสุขภาพก็ต้องผัดด้วยน้ำมันหมูและใส่กากหมูเจียวเล็กน้อย เช่น น้ำพริกกระท้อน (น้ำพริกกระท้อนทำได้ทั้งผัดและไม่ผัด)  น้ำพริกเผา  น้ำพริกมะดัน  น้ำพริกลงเรือ  น้ำพริกแอ๊ปเปิ้ล น้ำพริกพริกไทยสด ฯลฯ
            ยังมีน้ำพริกอีกมากมายแล้วแต่จะนึก  แล้วแต่ว่ามีอะไรฤดูไหน  ท้องถิ่นไหน เช่น น้ำพริกไข่เค็ม น้ำพริกเห็ด  น้ำพริกไข่ปู   หาอ่านรายละเอียดได้จากหนังสือ "น้ำพริก" ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช  ซึ่งตอนนี้เป็นตำราอาหารที่ดิฉันมีติดครัวไว้เสมอ


  

วันอาทิตย์ที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2556

Welcome to our hottest time of the year ! 
อาหาร กับ อากาศร้อน
(อาหารฤทธิ์เย็น)
          หลักความเชื่อเรื่องความร้อน-เย็นของร่างกายมีความสัมพันธ์กับสุขภาพและการเจ็บป่วยของผู้คนมีมานานเป็นพันๆ ปี   การแพทย์แผนจีนเรียกว่า หยิน-หยาง  มีการรักษามากว่า 5,000 ปี  พบหลักฐานบันทึกทางการแพทย์เก่าแก่อายุประมาณกว่า 2,500 ปีมาแล้วเกี่ยวกับ "การป่วยไข้ที่ใช้อาหารเป็นยารักษา"   วิถีแบบเต๋าเชื่อว่า มนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของจักรวาลและธรรมชาติ   หยินคือ ความเย็น หยางคือ ความร้อน  อาหารที่เรากินเข้าไปก็มีทั้งฤทธิ์ร้อนและเย็นจึงมีผลต่อความสมดุลของหยิน-หยางในร่างกายเราโดยตรง   สมดุลร้อนเย็นในร่างกายเราก็คือ ภาวะอุณหภูมิหรือธาตุไฟ  ซึ่งมีเหตุปัจจัยมาจากอาหาร อารมณ์ สังคม การงาน เทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม วิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป ทำให้เกิดการแปรปรวนได้   ถ้าสองสิ่งนี้เสียสมดุลก็จะเกิดอาการเจ็บป่วย  การรักษาเยียวยาหรือป้องกันจึงมุ่งรักษาสมดุลของหยิน-หยาง  
             ในทางอายุรเวชศาสตร์ แพทย์แผนอินเดียนั้นเห็นว่า มนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ  การกินอาหารที่ดีต้องกินให้สอดคล้องกับธรรมชาติและกับร่างกาย   กุญแจสู่สุขภาพที่ดีคือการรักษาสมดุลของธาตุในร่างกาย  เรียกว่า เรือนธาตุ ประกอบด้วย ดิน น้ำ ลม ไฟ และอากาศ   
            แพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือกในแนวธรรมชาติบำบัดพื้นฐานนั้น  พบว่าภาวะร้อน-เย็นในร่างกายเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้คนแข็งแรงหรืออ่อนแอ  ซึ่งปัจจัยที่สำคัญอย่างยิ่งมาจากอาหารการกินในแต่ละมื้อแต่ละวัน แต่ละโอกาสเทศกาล  แม้ว่าร่างกายจะประกอบด้วย ดิน น้ำ ลม ไฟ  แต่สิ่งสำคัญที่ทำให้อวัยวะต่างๆ สมดุล ก็คือไฟนั่นเอง   เมื่อร่างกายร้อนเกินหรือเย็นเกินจะทำให้เกิดความอ่อนแอและล้มป่วยลงได้ถ้าปล่อยทิ้งไว้นาน   ถ้าร่างกายมีธาตุไฟที่สมดุลคือไม่ร้อนเกินและไม่เย็นเกินจะทำให้สภาวะเลือดมีประสิทธิภาพ  ทั้งในการหล่อเลี้ยงร่างกายและการต้านโรคทั้งหลายที่คอยรุมเร้าชีวิตผู้คน
            ทุกวันนี้คนเราส่วนใหญ่มีสภาวะร่างกายหนักมาทางร้อนเกิน  ภาวะร่างกายที่ร้อนเกินคือสาเหตุของโรคร้ายแรงทั้งหลาย   ซึ่งเกิดจากวิถีชีวิตที่เคร่งเครียด การงานเต็มไปด้วยการแข่งขัน  สังคมระบบทุนนิยมและระบบอุตสาหกรรม  สิ่งแวดล้อมที่มีมลพิษ  อากาศอบอ้าวแดดร้อน  อาหารเครื่องดื่มฤทธิ์ร้อนและปนเปื้อนสารปรุงแต่งเคมีสารพิษ  อาการแช่แข็งอาหารสำเร็จรูป  เครื่องใช้ไฟฟ้าทั้งหลาย  ความกังวลความโกรธ  การใช้สารเคมีมากขึ้นในชีวิตประจำวันรวมทั้งยารักษาโรค  ระบบการเผาผลาญในร่างกาย   เหล่านี้ล้วนสร้างความร้อนในกับร่างกาย   อาจมีอาการแสดงออกเนื่องจากภาวะไม่สมดุลแบบร้อนเกิน เช่น ตาแดง ตาแห้ง ขอบตาคล้ำ มีสิวฝ้า กระเนื้อ ตุ่มแผลโรคในช่องปาก นอนกรน ปากคอแห้ง  ผมร่วงหรือหงอกก่อนวัย รังแค  ปวดหัวตัวร้อน มีไข้  เส้นเลือดขอด  เส้นเลือดฝอยแตกเป็นจ้ำตามใต้ผิวหนังบางที่  เป็นตะคริวบ่อย  ท้องผูกหรือบางครั้งท้องเสียแทรก  ปัสสาวะปริมาณน้อย สีเข้ม อาจแสบขัด  ปวดท้องหรือท้องอืด  ผิวหนังมีผื่น เริม งูสวัด สะเก็ดเงิน  หายใจร้อน มีเสมหะเหนียวข้น  อ่อนเพลียเมื่อเดินทางด้วยรถยนต์ ง่วงนอนหลังกินข้าว  ไหล่ติดยกแขนขึ้นไม่สุด ฯลฯ   เมื่อมีอาการเตือนบ่อยๆ นานๆ ไม่ได้รับการแก้ไขในที่สุดก็ก่อให้เกิดโรคร้ายแรงต่างๆ เช่น โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไซนัสอักเสบ หลอดลมหรือกล่องเสียงอักเสบ ตับอักเสบ กระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบ ไทรอยด์เป็นพิษ ริดสีดวงทวาร หอบหืด ไอกรน ไตอักเสบจนไตวาย นิ่วในไต ในกระเพาะปัสสาวะหรือในถุงน้ำดี  ไส้เลื่อน ต่อมลูกหมากโต เป็นต้น  
            ตัวอย่างของโรคมะเร็งและเนื้องอก เกิดจากความร้อนในร่างกายมากเกินและนานต่อเนื่อง  ทำให้ความร้อนนี้ไปเผาผลาญเซลล์ในร่างกายตายไปเซลล์แล้วเซลล์เล่า จนเกินสภาพเซลล์ที่แข็งกระด้าง  เกิดทับถมกันจนกลายเป็นเนื้องอกนานเข้าขยายกลายเป็นมะเร็ง   อีกประเภทหนึ่ง คือ เซลล์ถูกเผาไหม้จนดีเอ็นเอในเซลล์เกิดความเสียหาย  จึงสร้างเซลล์ออกมาใหม่และไม่สมบูรณ์อาจมีหน้าตาผิดไปทำงานผิดเพี้ยน  เซลล์เม็ดเลือดขาวไม่สามารถขจัดออกไปได้ในที่สุดก็ขยายตัวกลายเป็นมะเร็ง
            ภาวะร่างกายที่เย็นเกินเกิดขึ้นเพียงส่วนน้อยในคนเรา  มีเพียงไม่กี่สาเหตุ เช่นกินอาหารที่มีฤทธิ์เย็นมากติดๆ กันเป็นระยะเวลาหนึ่ง  โดยเฉพาะชนิดที่ให้โทษแ่ก่ร่างกาย เช่น ขนมหวาน เครื่องดื่มหวานเย็นมีกลิ่นหอม  ผักฤทธิ์เย็นไม่ผ่านไฟหรือกินข้าวมากเกินไป   เครียดจัด ทำให้เกิดภาวะร้อนก่อนและตีกลับเป็นเย็นเกิน  เชื่องช้าเฉื่อยชา  นอนนานๆ ร่างกายไม่ได้ใช้พลังงาน   อาการที่ฟ้องเช่น มึนศีรษะ  ตาแฉะ  ขี้ตาเยอะ  มีตุ่มหรือแผลในช่องปากด้านบนหรือโคนลิ้น ลิ้นเป็นฝ้าขาว  มือเท้าเย็น ตัวเย็น หน้าซีด เป็นเหน็บชา มีราตามตัวหรือเล็บ เป็นกลากเกลื้อนขาว  เป็นหวัดน้ำมูกใสแต่ไม่เจ็บคอ เสมหะไม่เหนียวข้นและอาจมีอาการไอ  ข้อติด ปวดข้อ ตะคริว โรครูมาตอยด์ นิ้วล็อก(กำมือไม่ค่อยลง)  ปัสสาวะใสอาจปริมาณมากและไม่อุ่น โลหิตจาง หน้ามืด วิงเวียนบ่อย   ปล่อยไว้นานๆ ไม่แก้ไขโรคที่อาจตามมาคือ มะเร็งและเนื้องอกที่เกิดจากภาวะเย็นเกิน  คอพอกชนิดธรรมดาที่เกิดจากการขาดไอโอดีน
            ในทุกวันนี้เราอยู่ท่ามกลางอาหารฤทธิ์ร้อนทั้งสิ้น เช่น อาหารรสจัดจ้านทุกชนิดทุกรส  กลุ่มโปรตีนสูงเส้นใยน้อย  อาหารใช้ความร้อนสูง ปรุงนาน  กลุ่มสมุนไพรไทยที่มีฤทธิ์ร้อน กระชาย กะเพรา โหระพา แมงลัก กลุ่มหอมกระเทียม พริกไทย ผักที่มีกลิ่นฉุน  ผลไม้หวานจัด  มีวิตามินมากธาตุอาหารสูง  กลุ่มแป้งข้าวทั้งหลาย ขนมปัง ขนมกรุบกรอบ  โปรตีนเนื้อสัตว์ทุกชนิดรวมทั้งเห็ดโคน เห็ดหอม เห็ดหลินจือ ถั่วดำ ถั่วแดง ถั่วลิสง ถั่วทอดทุกชนิด  เครื่องปรุงจากการหมักดองพวกเต้าเจี้ยว ซีอิ๊ว น้ำปลา ปลาร้า ฯลฯ  น้ำมันหมู วัว ไก่ น้ำัมันพืช น้ำมันรำข้าว ฯลฯ  น้ำร้อนจัดเช่น ชา กาแฟร้อนๆ  น้ำเย็นจัดและน้ำแข็ง  สมุนไพรและยาบำรุงเลือด เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ น้ำอัดลม เป็นต้น   เราจึงควรจัดสรรอาหารที่มีฤทธิ์เย็นมาช่วยดับร้อนผ่อนกระหายของร่างกาย  การทำกินเองในบ้านคืออาหารฤทธิ์เย็นอย่างแท้จริง  
            เราสามารถจัดการอาหารการกินให้ธาตุไฟในร่างกายเกิดความสมดุลได้โดยพิจารณาหรือใส่ใจอาการที่เกิดขึ้นในร่างกาย  ถ้าธาตุในร่างกายสมดุลเราจะรู้สึก เบาสบาย สดชื่น มีกำลัง และอารมณ์ดี   เราเสียเวลาหรือทุ่มเทเวลามากมายไปกับสิ่งต่างๆ ที่ไม่ได้มีผลดีกับสุขภาพเลย  ฉะนั้น เราควรแบ่งเวลามาทำอาหารฤทธิ์เย็นป้อนเซลล์ของร่างกายเพื่อรักษาสุขภาพเราบ้าง  อาจใช้หลักพรหมวิหาร 4 ช่วยดังนี้ 
            เมตตา  ต่อเซลล์ผู้ให้ชีวิตแก่เรา  ด้วยการมีสติในการกิน
            กรุณา   ต่อเซลล์ด้วยการทำอาหารฤทธิ์เย็นให้เซลล์กิน
            มุทิตา  ด้วยความยินดีเมื่อเซลล์เบิกบาน มีกำลัง
            อุเบกขา  ต่อเซลล์ด้วยการไม่ยินดียินร้ายกับอาหารที่ห้อมล้อมตัวเรามากมายอันเป็นอันตรายต่อเซลล์แห่งชีวิตเรา  นับเป็นความกตัญญูต่อเซลล์ที่ให้ร่างกาย อวัยวะต่างๆ แก่เราได้ใช้ประโยชน์   
            อาหารฤทธิ์เย็นมีคุณสมบัติเด่นชัดคือ ย่อยง่าย การสันดาปน้อย สารอาหารไม่มากมายจนเกินไป รสชาติอาหารไม่จัด  ไม่ทำให้เกิดความร้อนในร่างกายมากมาย  คุ้มครองเซลล์ทำให้เซลล์เย็นตัวลง ทำให้เกิดความสมดุลของธาตุไฟ  ทำให้สภาวะเลือดมีความเป็นด่างเล็กน้อย (pH7) ซึ่งมีคุณสมบัติดีมีคุณภาพดีที่สุด  ทำให้อวัยวะต่างๆ ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ  ร่างกายจึงแข็งแรงทนต่อคลื่นความร้อนและโรคระบาดได้   เครื่องปรุงอาหารที่มีฤทธิ์เย็นหรือพวกผักผลไม้ก็ต้องมีรสอ่อนหรือหวานเพียงเล็กน้อยจากธรรมชาติ มีเส้นใยสูง ให้พลังงานต่ำ  พืชผักประเภทที่มีเนื้อยุ่ย หลวมๆ ลักษณะเรียวบาง ชุ่มน้ำ อ่อนนุ่ม มีความสดคงทน สีอ่อนๆ เช่น ถั่วงอก น้ำเต้า ฟักแฟง  กินแล้วชุ่มคอไม่ระคายเคือง  ผักบุ้ง  ผักหวาน  บวบ  แตงต่างๆ  มะละกอดิบ  สายบัว หยวกกล้วย  กล้วยดิบ หัวปลี  ยอดฟักทั้งหลาย  ดอก ยอดและฝักมะรุม  หญ้าปักกิ่ง  มะเขือเทศ  กะหล่ำดอก  บร็อกโคลี่  กวางตุ้ง  ผักกาดขาว  หัวไขเท้า  ผักกาดทั้งหลาย  ใบเตย  รางจืด  ดอกขจร  ปวยเล้ง  ข้าวโพด  ดอกแค  ย่านาง  ใบมะขาม  ผักเหลียง  กระเจี๊ยบเขียว  มะเขือเปราะ  มะเขือยาว  มะม่วงดิบ(ไม่เปรี้ยวจัด)  ผักที่รสออกขม เช่น ใบบัวบก  มะเขือพวง  มะระจีน  มะระขี้นก  สะเดา  ผักอื่นที่มีรสออกขมเป็นผักฤทธิ์ร้อนที่มีฤทธิ์ในการดับร้อน  กินแต่พอดีตามที่ร่างกายรู้สึกเบาสบาย  ถ้ามากเกินไปก็มีโอกาสไม่สบายเนื้อตัวได้เช่นกัน   ส่วนพืชผักที่มีรสฝาดและเปรี้ยวจัด เช่น ตะลิงปลิง  มะปรางดิบ  มะขามป้อม  แม้จะมีฤทธิ์เย็น  แต่ถ้ากินมากเกินอาจตีกลับเป็นฤทธิ์ร้อนได้เช่นกัน  กลุ่มผลไม้ฤทธิ์เย็นได้แก่ มังคุด มะยม แตงโม แคนตาลูป สับปะรด ส้มโอ ส้มเช้ง กล้วยน้ำว้า(เพิ่งสุก) กล้วยหักมุก แก้วมังกร กระท้อน พุทรา สมอไทย ชมพู่ มะดัน มะขามดิบ น้ำมะนาว น้ำมะพร้าว แอปเปิ้ล สาลี่ ลางสาด สตรอเบอรี่ ลูกไหน ลูกพรุน บลูเบอรี่ ลูกฟิกส์(มะเดื่อฝรั่ง) บ๊วย แอปพริคอต เนคตาลิน
            การกินเพื่อถนอมเซลล์สำหรับผลไม้นั้น ให้กินผลไม้รสเปรี้ยวก่อนแล้วจึงตามด้วยผลไม้หวาน  เพื่อชะลอการดูดซึมน้ำตาลจากผลไม้หวานให้ค่อยๆ ซึมเข้ากระแสเลือดแต่พอดี  น้ำตาลในผลไม้ก็คือ น้ำตาลทั่วๆ ไปที่เรายังต้องระวังจำกัดปริมาณ   กลุ่มคาร์โบไฮเดรตฤทธิ์เย็น ได้แก่ เส้นขาวทั้งหลายถ้าให้ดีต้องเป็นเส้นที่ปราศจากน้ำมัน  วุ้นเส้น  ข้าวกล้อง  แป้งข้าวเหนียว แป้งข้าวเจ้า แป้งข้าวสาลี
            อาหารกลุ่มนี้มีฤทธิ์เย็น ให้พลังงานความร้อนน้อย  ดูดซึมเร็ว  ร่างกายใช้ได้เร็วแต่ก็หมดเร็วเช่นกันเพราะเป็นกลุ่มอาหารที่ไม่ได้สารอาหารจำเป็นมากมาย  ดังนั้นในขบวนการสันดาปเพื่อเป็นพลังงานจึงต้องดึงเอาวิตามินแร่ธาตุอื่นในร่างกายมาใช้ร่วม   การกินอาหารแต่ประเภทนี้ไปนานๆ ร่างกายก็จะขาดวิตามิน แร่ธาตุและเส้นใยอาหาร  ฉะนั้นเมื่อร่างกายคลายร้อน ผ่อนโรคแล้ว  ควรกินข้าวซ้อมมือหรือข้าวกล้อง  วุ้นเส้นไม่ขัดขาว  เส้นก๋วยเตี๋ยวหรือขนมจีนจากแป้งข้าวกล้องเพราะร่างกายจะได้ทั้งเส้นใยอาหารและสารอาหารมาก  ส่วนน้ำตาลนั้นเราได้อยู่ตลอดจากผลไม้และอาหารโดยทั่วไปแล้ว  ซึ่งร่างกายเราต้องการเพียง 5 ช้อนชาต่อวันเท่านั้น
             โปรตีนมีคุณสมบัติที่ร่างกายนำไปแปลงเป็นไกลโคเจนเก็บไว้เป็นพลังงานสำรองส่วนหนึ่ง  อีกส่วนทำหน้าที่ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของเนื้อเยื่อ  การย่อยโปรตีนจะใช้พลังงานในการสันดาปสูงมากจึงทำให้มีฤทธิ์ร้อนเป็นส่วนใหญ่  เฉพาะเห็ดและถั่วบางชนิดเท่านั้นที่ให้ฤทธิ์เย็น คือ ถั่วขาว ถั่วเขียว ถั่วทอง ถั่วเหลือง เห็ดฟาง เห็ดนางฟ้า เห็ดหูหนูขาวและดำ เห็ดลม เห็ดขอนขาว  รวมทั้งผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลืองเช่น เต้าหู้ทุกชนิด น้ำเต้าหู้(รวมทั้งเครื่องด้วย) ฟองเต้าหู้  นอกจากข้างต้นแล้วยังมี ลูกสำรอง น้ำนมข้าวโพด น้ำเก๊กฮวย น้ำใบเตย   เครื่องปรุงก็ต้องสดจากธรรมชาติตามฤดูกาลให้มากที่สุด  มะนาว ส้มจี๊ด ส้มซ่า มะกรูด มะขามเปียก มะขามอ่อน เกลือสมุทร ซีอิ๊วอนุโลมเฉพาะน้ำแรก(สูตร 1) และใช้ร่วมกับเกลือ   นอกจากนี้ควรใส่ใจการล้างสารเคมีที่ติดมากับผักผลไม้  การปรุงใช้ไฟอ่อนถึงปานกลางให้สุกพอดีไม่เปื่อยหรือเละ  ไม่ควรอุ่นซ้ำๆ  เป็นการปรุงขั้นตอนเดียว  ไม่ใช่ทอดแล้วนำไปผัดหรือต้มแล้วผัด   4 ประการหลังนี้จะทำให้กลายเป็นอาหารฤทธิ์ร้อนไป
             การกินอาหารฤทธิ์เย็นเพื่อความสมดุลของร่างกายยังมีประโยชน์อีกคือ
             - สามารถขับสารพิษที่สะสมในร่างกายมานานแสนนานออกไปได้
             - สามารถซ่อมบำรุงอวัยวะต่างๆ ที่ชำรุดทรุดโทรมจากความร้อนและสภาวะแวดล้อมรอบตัว
             - สามารถดึงความเป็นหนุ่มสาวกลับมาให้เราได้ด้วยอาการเบากาย มีกำลังวังชา รู้สึกแข็งแรงและสดชื่น
             - สามารถเยียวยารักษาโรคต่างๆ ที่ฝังอยู่ในร่างกาย ทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัวอีกหลายอาการ
             - ทำให้เลือดอยู่ในสภาวะด่างอ่อนๆ ทำให้เลือดมีประสิทธิภาพในการบำรุงร่างกาย รักษาและป้องกันโรค ขับพิษในร่างกายทั้งที่มาจากอาหาร จากอารมณ์ จากซากเซลล์และจุลินทรีย์ที่ตายแล้วออกจากระบบต่างๆ ของร่างกาย 
            นอกจากนี้ควรเคี้ยวอาหารให้ละเอียดก่อนกลืนเพื่อลดภาระในการย่อยของร่างกาย  และร่างกายยังดูดซึมสารอาหารไปใช้ได้อย่างเต็มที่และรวดเร็ว  
            การดื่มน้ำเช่นกัน การดื่มน้ำที่ดีควรดื่มก่อนกินอาหารและหลังอาหารไปแล้ว 1/2-2 ชั่วโมง  เพราะเมื่อกินอาหารเสร็จร่างกายต้องการธาตุไฟ(ความร้อน) เพื่อย่อยอาหาร  ต้องการความเข้มข้นของน้ำย่อย  ต้องการช่องว่างสำหรับปราณหรือเอนไซม์ทำการย่อย   การดื่มน้ำระหว่างมื้อที่เรียกว่าข้าวคำน้ำคำหรือดื่มปริมาณเป็นแก้วหลังอาหารทันทีจะทำให้น้ำย่อยเจือจาง  น้ำมีฤทธิ์เย็นไปลดธาตุไฟที่กำลังย่อยอาหารทำให้ย่อยได้ไม่เต็มที่  สร้างภาระให้ร่างกายทำให้อึดอัดอีกนาน  ถ้ากระหายน้ำจริงๆ ควรดื่มก่อนมื้ออาหาร   ถ้าเกิดจากอาการไม่สบายหรืออาหารรสจัดระหว่างมื้ออาจจะแค่จิบแล้วเว้นช่วงครึ่งชั่วโมงไปแล้วค่อยดื่มเพิ่ม   
            น้ำดื่มที่ดีต้องเป็นน้ำอุณหภูมิห้องหรือเย็นเล็กน้อยจากตู้เย็น  ไม่ใช่เย็นเจี๊ยบจากน้ำแข็ง  ความเย็นที่เกินพอดีของร่างกายส่งผลร้ายให้ร่างกายยิ่งร้อนมากขึ้น  และน้ำที่ดีที่สุดต้องไม่ผ่านไฟ  รองลงมาเป็นน้ำคั้นสมุนไพรฤทธิ์เย็น  และน้ำต้มสมุนไพรฤทธิ์เย็นที่ต้มแต่พอดีด้วยไฟกลางค่อนข้างอ่อน
            ลำดับของการกินอาหารนั้นมีความสำคัญต่อสุขภาพอย่างมาก คือ กินอาหารที่ย่อยง่ายไปสู่อาหารที่ย่อยยากกว่า  อาหารที่ย่อยง่ายร่างกายจะดูดซึมได้เร็ว สารอาหารเข้ากระแสเลือดได้เร็ว เป็นการกระตุ้นหรือวอร์มอัพให้ร่างกายได้ตื่นตัวเพื่อทำงานในทุกระบบทุกอวัยวะ  โดยเฉพาะกระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก ตับ ตับอ่อน เป็นต้น  เป็นการถนอมเซลล์  ลดภาระของกระเพาะอาหาร  ระบบย่อยทำงานอย่างมีประสิทธิภาพและทำให้กินได้อย่างปริมาณพอประมาณ  ลำดับการย่อยง่ายไปยากมีดังนี้
             1. น้ำ
             2. น้ำคลอโรฟิลล์ จากธรรมชาติใหม่สด  คั้นจากผักสดฤทธิ์เย็นทั้งหลาย เช่น ใบย่านาง ใบเตย ใบบัวบก หญ้าปักกิ่ง เป็นต้น  
             3. ผลไม้สด มีเทคนิคเพื่อสุขภาพคือ กินผลไม้เปรี้ยวอมหวานก่อนจึงตามด้วยผลไม้รสหวาน
             4. ผักสด มีเส้นใยอาหารมากกว่าผลไม้มากทั้งผักสดและผักปรุงสุก
             5. ข้าวและกับข้าว
             6. ถั่วต้ม
             7. แกงจืด มีภาวะการย่อยเช่นเดียวกับกับข้าวแต่เพราะมีน้ำเยอะและผ่านไฟนานกว่าจึงเหมาะกับการปิดท้ายหากอยากซดน้ำแกงให้คล่องคอขณะกินข้าว  แต่กรณีร้อนอบอ้าวอาจซดน้ำแกงก่อนกินข้าวก็ได้
             คำแนะนำเพิ่มเติมสำหรับผู้ที่ต้องการสัมผัสผลจากการกินอาหารฤทธิ์เย็น  ในคนปกติ ควรกินให้ได้ 3-5 วันติดต่อกันในช่วงเริ่มต้น  เพราะร่างกายจะมีปฏิกิริยากับอาหารฤทธิ์เย็นภายใน 1-3 วัน  จากนั้นก็หย่อนผ่อนตามสภาพจิตและความสบายของกาย  อาจกินเป็นอาหารฤทธิ์เย็นวันเว้นวัน หรือมื้อเว้นมื้อตามต้องการ   ส่วนคนป่วยที่มีอาการจากความร้อนในร่างกายมากเกินหรือธาตุไฟกำเริบนั้น ควรกินมากมื้อขึ้นจนรู้สึกสบายกายมากขึ้น  พยายามเคร่งครัดและกินตามลำดับที่แนะนำ  มื้อเย็นควรงดโปรตีนและไขมัน  หากงดมื้อเย็นไม่ได้ในกินน้อยๆ เบาๆ  อย่านอนดึก  ตื่นแต่เช้า  ออกกำลังสม่ำเสมอ   ระยะเวลากินที่ได้ผลต่อการบำบัดผ่อนโรค ทุเลาอาการอย่างน้อย 3 เดือน  ซึ่งเซลล์ต่างๆ ตายทุกวัน เกิดทุกวัน  เมื่อเวลาผ่านไปเป็นเดือนก็จะมีเซลล์ที่เกิดใหม่ที่แข็งแรงด้วยอาหารฤทธิ์เย็นจำนวนมาก  ทำให้ร่างกายแข็งแรงขึ้น
             การอดกลั้นการกินอาหารที่อยากมากๆ ก่อให้เกิดความตึงเครียดต่อจิตใจได้  ฉะนั้นต้องไม่เป็นการฝืนใจนัก  ให้กินตามใจปากเสียบ้าง เพราะว่า
    "ความเครียดของจิตใจก่อพิษร้าย
                                                 มากกว่าพิษของอาหารแสลง"
            นี่เป็นเพียงความรู้บางส่วนที่ได้จากการหาทางปรับตัวกับอาการร้อนสุดๆ ในเดือนที่ร้อนที่สุดขณะนี้ผู้สนใจอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก
           "อาหารฤทธิ์เย็น" แนวธรรมชาิติบำบัดปรับสมดุล รักษาโรค  สำนักพิมพ์แสงแดด


ตัวอย่างอาหารฤทธิ์เย็น

            เราเพียงปรับเปลี่ยนผักและส่วนประกอบอื่นเข้าไปในกับข้าวที่กินอยู่ทุกวันให้เป็นผักผลไม้ โปรตีน คาร์โบไฮเดรต และเครื่องปรุงอื่นที่มีฤทธิ์เย็นตามรายละเอียดข้างต้น เช่น 

          - น้ำใบบัวบก (แก้ร้อนในกระหายน้ำ ช่วยถอนพิษร้อนในร่างกาย บำรุงผิวพรรณ ชะลอความแก่  ซ่อมแซมเส้นเลือดฝอย บำรุงสมอง ช่วยผ่อนคลายความเครียด  ควบคุมระดับความดันโลหิตให้ปกติ  ผสมกับน้ำสับปะรดหรือน้ำมะพร้าวอ่อนทำให้มีรสชาติหวานหอมดียิ่งขึ้น)   
          - น้ ำใบเตย (มีน้ำมันหอมระเหย รสหวานสีเขียวสวย  มีสารคลอโรฟิลล์ช่วยลดการกระหายน้ำ บำรุงหัวใจ ทำให้สดชื่น  ทั้งยังมีเกลือแร่ แคลเซียมและฟอสฟอรัส อาจคั้นผสมกับผักฤทธิ์เย็นอื่นๆ ได้)        
          - น้ำย่านาง (อาจเพิ่มใบเตยนิด หรือใบบัวบกหน่อย หรือผสมน้ำมะพร้าวอ่อนดื่มง่ายอร่อยขึ้น)  
          - น้ำใบตำลึงใช้ดับพิษร้อน อุดมไปด้วยวิตามินเอ แคลเซียม ฟอสฟอรัส และเหล็ก  
          - น้ำำว่านหางจรเข้ (มีสารอะโลอินและสารอะโลอิซิน Aloin - Aloesin ช่วยป้องกันโรคมะเร็ง โรคระบบทางเดินหายใจอักเสบ สมานแผลในกระเพาะอาหาร  ฆ่าเชื้อไวรัสต้นเหตุการเป็นไข้หวัดและสลายสารพิษ  จึงช่วยฟื้นฟูการทำงานของตับได้เป็นอย่างดี)  
          - น้ำเต้าหู้  
          - น้ำลูกเดือย (มีสารคอกซีโนไลด์ Coxenolide ช่วยยับยั้งการเติบโตของเนื้องอก  ทำให้การหมุนเวียนของเลือดที่ผิวหนังดีขึ้น  ทำให้ผมดกดำเป็นเงางาม  ใช้ลูกเดือยต้มสุก 1 ถ้วยปั่นกับน้ำ 3 ถ้วย ตั้งไฟอ่อนปานกลางแค่พอเดือดใส่น้ำตาลนิดหน่อย ทำได้ 4 แก้ว)   
          - น้ำใบหมาน้อยหรือหมอน้อย 15-20 ใบ (ผสมใบย่านาง 30-40 ใบและใบเตย 2 ใบ ล้างให้สะอาดหั่นเป็นชิ้นๆ ใส่โถปั่นพร้อมน้ำซัก 6 ถ้วย  กรองเอาเฉพาะน้ำ)  ใบหมาน้อยหรือเครือหมอน้อย หรือ กรุงเขมา  ผักพื้นบ้านมหัศจรรย์ของอิสาน แก้ไข้แก้ปวด ช่วยขับถ่าย  มีเพคตินสูง ช่วยดูดซับโคเลสเตอรอลในเส้นเลือดได้ดี  ช่วยดูดซับสารพิษ  ลดการดูดซึมของน้ำตาลและไขมัน 
          - ส้มตำมะละกอ  ส้มตำฟักเขียวกับมะละกอห่าม  ตำแตง  สลัดมะเขือเทศ  ยำหรือตำผลไม้รวม  ยำหรือตำมะม่วงเปรี้ยวผสมมะละกอห่ามกินกับผักวอเตอร์เครสและผักกาดหอม  ลาบหัวปลี  ยำทวายผักฤทธิ์เย็น  ลาบเห็ดฤทธิ์เย็น
          - แกงอ่อม  แกงส้มผักรวม  แกงเลียง  แกงแคใบมะรุม  
          - น้ำพริกอ่องใส่เห็ดฟางสับหยาบแทนหมูสับกินกับแตงกวาสด,   น้ำพริกใบหมาน้อยกับเห็ดฟางสับละเอียดกินกับแตงกวา สายบัว ใบบัวบก มะเขือต่างๆ,  หลนใช้ถั่วเหลืองและถั่วทองใส่เห็ดฟางกินกับแตงกวา มะเขือเปราะ ผักกาดขาวหรือผักต้มมีดอกขจร ดอกแค ดอกโสน ถั่วฝักยาว มะเขือเปราะ
          - ข้าวยำปักษ์ใต้ผักฤทธิ์เย็น   สุกี้ผักฤทธิ์เย็นและเห็ดรวม
          ตัวอย่างเพียงบางส่วนเป็นแนวทางเพื่อปรับเปลี่ยนการปรุงอาหารในชีวิตประจำวันให้มีฤทธิ์เย็นมากขึ้นสำหรับฤดูร้อนนี้  รายละเอียดศึกษาได้จาก หนังสือ "อาหารฤทธิ์เย็น" สำนักพิมพ์แสงแดด วิธีทำนั้นยืนพื้นจากอาหารที่ทำในชีวิตปกติประจำวัน  เพียงปรับวัตถุดิบและเครื่องปรุงตามอาหารฤทธิ์เย็น
          Enjoy summer time.
 
Plantilla Minima modificada por Urworstenemy