วันพฤหัสบดีที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2556
"เจียวกู้หลาน" ชาบำบัดโรค
ชื่อวิทยาศาสตร์: Gynostemma pentaphyllum (Thunb.) Makino
ชื่อไทย: ปัญจขันธ์, เบญจขันธ์, ชาสตูล
ชื่อจีน: Jiaogulan (twisting-vine-orchid) เซียนเช่า ซียันเช่า ซีเย่ตัน
ชื่อยุโรปและสหรัฐอเมริกา: Southern ginseng, 5-leaf ginseng
ชื่อญี่ปุ่น: Amachasuru (ชาหวานจากเถา)
การดื่มชาเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นคนจีน ญี่ปุ่น อังกฤษ แขกอินเดียหรืออาหรับ ล้วนมีวิถีวัฒนธรรมการดื่มชาเป็นของตนเอง กล่าวกันว่า มนุษย์ในโลกนี้รู้จักการดื่มชามานานกว่า 5,000 ปี ทั้งดื่มเป็นเครื่องดื่ม เพื่อความรื่นรมย์และเพื่อเป็นยา
คนจีนและแขกดื่มชาเพื่อละลายไขมันจากอาหารที่บริโภคเข้าไป ศัลยา คงสมบูรณ์เวช
ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนบำบัดกล่าวว่า ชาทุกชนิดมีสารต้านอนุมูลอิสระที่มีฤทธิ์สูง โดยเฉพาะฟลาโวนอยด์ ซึ่งมีคุณสมบัติในการป้องกันโรคได้หลายโรค
นักวิจัยชาวเนเธอร์แลนด์พบว่า ผู้ที่ได้รับสารฟลาโวนอยด์อย่างสม่ำเสมอจะมีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจหลอดเลือดลดลงถึง 68% ซึ่งสารที่ว่านี้พบมากในชาดำ หัวหอมและแอ๊ปเปิ้ล
องค์การอาหารและเกษตรสหรัฐฯ รายงานการวิจัยว่า การดื่มชาดำวันละ 5 ถ้วยช่วยลดแอลดีแอลหรือคอเลสเตอรอลที่ชอบไปเกาะตามผนังหลอดเลือดลดลงถึง 11.1% ส่วนการวิจัยในบอสตันระบุว่า ผู้ที่ดื่มชาดำวันละถ้วยจะช่วยลดความเสี่ยงจากหัวใจวายได้ถึง 44% เมื่อเทียบกับคนที่ไม่ดื่มชา
การศึกษาด้านคลีนิกและเภสัชในต่างประเทศและในจีนพบว่า เจียวกู้หลานเป็นสมุนไพรที่ใช้รับประทานเป็นประจำได้โดยไม่ต้องกังวลว่าจะมีผลข้างเคียงเช่นโสมหรือสมุนไพรบางชนิด ไม่ว่าจะใช้ทั้งต้นหรือสกัดออกมาซึ่งประกอบด้วยตัวยามากกว่า 50 ชนิด
ปัจจุบันกระแสการดื่มชาเป็นที่นิยมแพร่หลายพอๆ กับกาแฟ มีหลากหลายชนิดเลือกได้ตามรสนิยม ถ้าชาดำขมไปก็มีชาเขียว ชาขาว ชาดอกไม้ ชาผลไม้และชาสมุนไพร
เจียวกู้หลาน เป็นชาอีกชนิดหนึ่งที่ได้รับความนิยมแพร่หลาย โดยเฉพาะการนำมาใช้เพื่อป้องกัน ยับยั้งและบำบัดโรคหลายชนิด มีคุณสมบัติในการส่งเสริมธาตุหยินและหยางของร่างกาย ปรับสมดุลของร่างกายและความดันโลหิตทั้งสูงและต่ำ สร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย ผ่อนคลายความเครียด
เจียวกู้หลานเป็นพืชต่างสายพันธุ์กับโสม แต่มีสารซาโปนินที่มีโครงสร้างโมเลกุเหมือนกับโสม มีคุณสมบัติลดอาการป่วยจากโรคตับอักเสบและเบาหวาน โดยช่วยกระตุ้นการสร้างอินซูลินจากตับอ่อน
เจียวกู้หลานมีสารซาโปนิน 82 ชนิด เรียกว่า Gypenosides 1-82 ซึ่งมากกว่าที่มีในโสม 3-4 เท่า ในจำนวนนี้มี 4 ชนิดที่เหมือนกับที่พบในโสมคนคือ Ginsenosides, Rb 1, Rd และ F3 และอีก 17 ชนิดมีคุณลักษณะคล้ายโสม คุณสมบัติทางยาดีกว่าที่พบในโสมอื่นๆ โดยเฉพาะไม่มีพิษและไม่มีอาการแพ้จากการบริโภค
ผลการวิจัยของจีนและญี่ปุ่นพบสรรพคุณตรงกันว่า มีสารที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ช่วยให้นอนหลับ ลดระดับไขมันในเลือด เสริมระบบภูมิคุ้มกัน ยับยั้งการเจริญของเซลล์มะเร็งบางชนิด ต้านการอักเสบและลดระดับความดันโลหิตสูง รวมทั้งลดระดับน้ำตาลในเลือด
ข้อพิสูจน์ทางการแพทย์ที่มีการเผยแพร่ผ่านเอกสารทางวิชาการจำนวนมากยืนยันว่า เจียวกู้หลานสามารถป้องกันโรคเบาหวาน ไขมันในเส้นเลือด โรคมะเร็งในกระเพาะอาหารและลำไส้ ช่วยลดอาการไตวายและอาการปวดหัวข้างเดียวหรือไมเกรนได้
ควรดื่มชาเจียวกู้หลานหลังอาหารเช้า กลางวันหรือเย็น หรือดื่มก่อนนอนจะช่วยทำลายอาหารตกค้างในอาหารที่ไม่สะอาด ย่อยสลายไม่หมด ขับสารพิษในกระเพาะอาหารและลำไส้
การชงชาเจียวกู้หลาน ชาดอกไม้ ชาดำ ชาแดง ชาอูหลง ควรชงด้วยน้ำร้อนจัดถึง 100 องศาเซลเซียส เพื่อให้ใบชาคลายรสชาติที่ดีออกมา มีเพียงชาเขียวที่ไม่ควรชงด้วยน้ำเดือดเพราะจะทำลายรสชาติความสดของชา
ที่มา: นสพ.ไทยรัฐ, 5 พฤษภาคม 2555 และ Health Journal Balance issue 7 Tweet
ป้ายกำกับ:
เจียวกู้หลาน,
ชา,
ชา ยับยั้ง บำบัดโรค,
ชาสมุนไพร,
ดื่มชา,
ปัญจขันธ์
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น