Come and enjoy lovely coffee shop and restaurant with great breeze of Chao Phraya River plus lush green garden,near Rama V bridge and Nonthaburi Pier ร้านกาแฟ เบเกอรี่ อาหารกลางวัน ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ช่วงสะพานพระราม5 และท่าน้ำนนท์ บรรยากาศสไตล์บ้านสวน ชมวิวรับลมแม่น้ำ

วันอาทิตย์ที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2556

Welcome to our hottest time of the year ! 
อาหาร กับ อากาศร้อน
(อาหารฤทธิ์เย็น)
          หลักความเชื่อเรื่องความร้อน-เย็นของร่างกายมีความสัมพันธ์กับสุขภาพและการเจ็บป่วยของผู้คนมีมานานเป็นพันๆ ปี   การแพทย์แผนจีนเรียกว่า หยิน-หยาง  มีการรักษามากว่า 5,000 ปี  พบหลักฐานบันทึกทางการแพทย์เก่าแก่อายุประมาณกว่า 2,500 ปีมาแล้วเกี่ยวกับ "การป่วยไข้ที่ใช้อาหารเป็นยารักษา"   วิถีแบบเต๋าเชื่อว่า มนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของจักรวาลและธรรมชาติ   หยินคือ ความเย็น หยางคือ ความร้อน  อาหารที่เรากินเข้าไปก็มีทั้งฤทธิ์ร้อนและเย็นจึงมีผลต่อความสมดุลของหยิน-หยางในร่างกายเราโดยตรง   สมดุลร้อนเย็นในร่างกายเราก็คือ ภาวะอุณหภูมิหรือธาตุไฟ  ซึ่งมีเหตุปัจจัยมาจากอาหาร อารมณ์ สังคม การงาน เทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม วิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป ทำให้เกิดการแปรปรวนได้   ถ้าสองสิ่งนี้เสียสมดุลก็จะเกิดอาการเจ็บป่วย  การรักษาเยียวยาหรือป้องกันจึงมุ่งรักษาสมดุลของหยิน-หยาง  
             ในทางอายุรเวชศาสตร์ แพทย์แผนอินเดียนั้นเห็นว่า มนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ  การกินอาหารที่ดีต้องกินให้สอดคล้องกับธรรมชาติและกับร่างกาย   กุญแจสู่สุขภาพที่ดีคือการรักษาสมดุลของธาตุในร่างกาย  เรียกว่า เรือนธาตุ ประกอบด้วย ดิน น้ำ ลม ไฟ และอากาศ   
            แพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือกในแนวธรรมชาติบำบัดพื้นฐานนั้น  พบว่าภาวะร้อน-เย็นในร่างกายเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้คนแข็งแรงหรืออ่อนแอ  ซึ่งปัจจัยที่สำคัญอย่างยิ่งมาจากอาหารการกินในแต่ละมื้อแต่ละวัน แต่ละโอกาสเทศกาล  แม้ว่าร่างกายจะประกอบด้วย ดิน น้ำ ลม ไฟ  แต่สิ่งสำคัญที่ทำให้อวัยวะต่างๆ สมดุล ก็คือไฟนั่นเอง   เมื่อร่างกายร้อนเกินหรือเย็นเกินจะทำให้เกิดความอ่อนแอและล้มป่วยลงได้ถ้าปล่อยทิ้งไว้นาน   ถ้าร่างกายมีธาตุไฟที่สมดุลคือไม่ร้อนเกินและไม่เย็นเกินจะทำให้สภาวะเลือดมีประสิทธิภาพ  ทั้งในการหล่อเลี้ยงร่างกายและการต้านโรคทั้งหลายที่คอยรุมเร้าชีวิตผู้คน
            ทุกวันนี้คนเราส่วนใหญ่มีสภาวะร่างกายหนักมาทางร้อนเกิน  ภาวะร่างกายที่ร้อนเกินคือสาเหตุของโรคร้ายแรงทั้งหลาย   ซึ่งเกิดจากวิถีชีวิตที่เคร่งเครียด การงานเต็มไปด้วยการแข่งขัน  สังคมระบบทุนนิยมและระบบอุตสาหกรรม  สิ่งแวดล้อมที่มีมลพิษ  อากาศอบอ้าวแดดร้อน  อาหารเครื่องดื่มฤทธิ์ร้อนและปนเปื้อนสารปรุงแต่งเคมีสารพิษ  อาการแช่แข็งอาหารสำเร็จรูป  เครื่องใช้ไฟฟ้าทั้งหลาย  ความกังวลความโกรธ  การใช้สารเคมีมากขึ้นในชีวิตประจำวันรวมทั้งยารักษาโรค  ระบบการเผาผลาญในร่างกาย   เหล่านี้ล้วนสร้างความร้อนในกับร่างกาย   อาจมีอาการแสดงออกเนื่องจากภาวะไม่สมดุลแบบร้อนเกิน เช่น ตาแดง ตาแห้ง ขอบตาคล้ำ มีสิวฝ้า กระเนื้อ ตุ่มแผลโรคในช่องปาก นอนกรน ปากคอแห้ง  ผมร่วงหรือหงอกก่อนวัย รังแค  ปวดหัวตัวร้อน มีไข้  เส้นเลือดขอด  เส้นเลือดฝอยแตกเป็นจ้ำตามใต้ผิวหนังบางที่  เป็นตะคริวบ่อย  ท้องผูกหรือบางครั้งท้องเสียแทรก  ปัสสาวะปริมาณน้อย สีเข้ม อาจแสบขัด  ปวดท้องหรือท้องอืด  ผิวหนังมีผื่น เริม งูสวัด สะเก็ดเงิน  หายใจร้อน มีเสมหะเหนียวข้น  อ่อนเพลียเมื่อเดินทางด้วยรถยนต์ ง่วงนอนหลังกินข้าว  ไหล่ติดยกแขนขึ้นไม่สุด ฯลฯ   เมื่อมีอาการเตือนบ่อยๆ นานๆ ไม่ได้รับการแก้ไขในที่สุดก็ก่อให้เกิดโรคร้ายแรงต่างๆ เช่น โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไซนัสอักเสบ หลอดลมหรือกล่องเสียงอักเสบ ตับอักเสบ กระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบ ไทรอยด์เป็นพิษ ริดสีดวงทวาร หอบหืด ไอกรน ไตอักเสบจนไตวาย นิ่วในไต ในกระเพาะปัสสาวะหรือในถุงน้ำดี  ไส้เลื่อน ต่อมลูกหมากโต เป็นต้น  
            ตัวอย่างของโรคมะเร็งและเนื้องอก เกิดจากความร้อนในร่างกายมากเกินและนานต่อเนื่อง  ทำให้ความร้อนนี้ไปเผาผลาญเซลล์ในร่างกายตายไปเซลล์แล้วเซลล์เล่า จนเกินสภาพเซลล์ที่แข็งกระด้าง  เกิดทับถมกันจนกลายเป็นเนื้องอกนานเข้าขยายกลายเป็นมะเร็ง   อีกประเภทหนึ่ง คือ เซลล์ถูกเผาไหม้จนดีเอ็นเอในเซลล์เกิดความเสียหาย  จึงสร้างเซลล์ออกมาใหม่และไม่สมบูรณ์อาจมีหน้าตาผิดไปทำงานผิดเพี้ยน  เซลล์เม็ดเลือดขาวไม่สามารถขจัดออกไปได้ในที่สุดก็ขยายตัวกลายเป็นมะเร็ง
            ภาวะร่างกายที่เย็นเกินเกิดขึ้นเพียงส่วนน้อยในคนเรา  มีเพียงไม่กี่สาเหตุ เช่นกินอาหารที่มีฤทธิ์เย็นมากติดๆ กันเป็นระยะเวลาหนึ่ง  โดยเฉพาะชนิดที่ให้โทษแ่ก่ร่างกาย เช่น ขนมหวาน เครื่องดื่มหวานเย็นมีกลิ่นหอม  ผักฤทธิ์เย็นไม่ผ่านไฟหรือกินข้าวมากเกินไป   เครียดจัด ทำให้เกิดภาวะร้อนก่อนและตีกลับเป็นเย็นเกิน  เชื่องช้าเฉื่อยชา  นอนนานๆ ร่างกายไม่ได้ใช้พลังงาน   อาการที่ฟ้องเช่น มึนศีรษะ  ตาแฉะ  ขี้ตาเยอะ  มีตุ่มหรือแผลในช่องปากด้านบนหรือโคนลิ้น ลิ้นเป็นฝ้าขาว  มือเท้าเย็น ตัวเย็น หน้าซีด เป็นเหน็บชา มีราตามตัวหรือเล็บ เป็นกลากเกลื้อนขาว  เป็นหวัดน้ำมูกใสแต่ไม่เจ็บคอ เสมหะไม่เหนียวข้นและอาจมีอาการไอ  ข้อติด ปวดข้อ ตะคริว โรครูมาตอยด์ นิ้วล็อก(กำมือไม่ค่อยลง)  ปัสสาวะใสอาจปริมาณมากและไม่อุ่น โลหิตจาง หน้ามืด วิงเวียนบ่อย   ปล่อยไว้นานๆ ไม่แก้ไขโรคที่อาจตามมาคือ มะเร็งและเนื้องอกที่เกิดจากภาวะเย็นเกิน  คอพอกชนิดธรรมดาที่เกิดจากการขาดไอโอดีน
            ในทุกวันนี้เราอยู่ท่ามกลางอาหารฤทธิ์ร้อนทั้งสิ้น เช่น อาหารรสจัดจ้านทุกชนิดทุกรส  กลุ่มโปรตีนสูงเส้นใยน้อย  อาหารใช้ความร้อนสูง ปรุงนาน  กลุ่มสมุนไพรไทยที่มีฤทธิ์ร้อน กระชาย กะเพรา โหระพา แมงลัก กลุ่มหอมกระเทียม พริกไทย ผักที่มีกลิ่นฉุน  ผลไม้หวานจัด  มีวิตามินมากธาตุอาหารสูง  กลุ่มแป้งข้าวทั้งหลาย ขนมปัง ขนมกรุบกรอบ  โปรตีนเนื้อสัตว์ทุกชนิดรวมทั้งเห็ดโคน เห็ดหอม เห็ดหลินจือ ถั่วดำ ถั่วแดง ถั่วลิสง ถั่วทอดทุกชนิด  เครื่องปรุงจากการหมักดองพวกเต้าเจี้ยว ซีอิ๊ว น้ำปลา ปลาร้า ฯลฯ  น้ำมันหมู วัว ไก่ น้ำัมันพืช น้ำมันรำข้าว ฯลฯ  น้ำร้อนจัดเช่น ชา กาแฟร้อนๆ  น้ำเย็นจัดและน้ำแข็ง  สมุนไพรและยาบำรุงเลือด เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ น้ำอัดลม เป็นต้น   เราจึงควรจัดสรรอาหารที่มีฤทธิ์เย็นมาช่วยดับร้อนผ่อนกระหายของร่างกาย  การทำกินเองในบ้านคืออาหารฤทธิ์เย็นอย่างแท้จริง  
            เราสามารถจัดการอาหารการกินให้ธาตุไฟในร่างกายเกิดความสมดุลได้โดยพิจารณาหรือใส่ใจอาการที่เกิดขึ้นในร่างกาย  ถ้าธาตุในร่างกายสมดุลเราจะรู้สึก เบาสบาย สดชื่น มีกำลัง และอารมณ์ดี   เราเสียเวลาหรือทุ่มเทเวลามากมายไปกับสิ่งต่างๆ ที่ไม่ได้มีผลดีกับสุขภาพเลย  ฉะนั้น เราควรแบ่งเวลามาทำอาหารฤทธิ์เย็นป้อนเซลล์ของร่างกายเพื่อรักษาสุขภาพเราบ้าง  อาจใช้หลักพรหมวิหาร 4 ช่วยดังนี้ 
            เมตตา  ต่อเซลล์ผู้ให้ชีวิตแก่เรา  ด้วยการมีสติในการกิน
            กรุณา   ต่อเซลล์ด้วยการทำอาหารฤทธิ์เย็นให้เซลล์กิน
            มุทิตา  ด้วยความยินดีเมื่อเซลล์เบิกบาน มีกำลัง
            อุเบกขา  ต่อเซลล์ด้วยการไม่ยินดียินร้ายกับอาหารที่ห้อมล้อมตัวเรามากมายอันเป็นอันตรายต่อเซลล์แห่งชีวิตเรา  นับเป็นความกตัญญูต่อเซลล์ที่ให้ร่างกาย อวัยวะต่างๆ แก่เราได้ใช้ประโยชน์   
            อาหารฤทธิ์เย็นมีคุณสมบัติเด่นชัดคือ ย่อยง่าย การสันดาปน้อย สารอาหารไม่มากมายจนเกินไป รสชาติอาหารไม่จัด  ไม่ทำให้เกิดความร้อนในร่างกายมากมาย  คุ้มครองเซลล์ทำให้เซลล์เย็นตัวลง ทำให้เกิดความสมดุลของธาตุไฟ  ทำให้สภาวะเลือดมีความเป็นด่างเล็กน้อย (pH7) ซึ่งมีคุณสมบัติดีมีคุณภาพดีที่สุด  ทำให้อวัยวะต่างๆ ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ  ร่างกายจึงแข็งแรงทนต่อคลื่นความร้อนและโรคระบาดได้   เครื่องปรุงอาหารที่มีฤทธิ์เย็นหรือพวกผักผลไม้ก็ต้องมีรสอ่อนหรือหวานเพียงเล็กน้อยจากธรรมชาติ มีเส้นใยสูง ให้พลังงานต่ำ  พืชผักประเภทที่มีเนื้อยุ่ย หลวมๆ ลักษณะเรียวบาง ชุ่มน้ำ อ่อนนุ่ม มีความสดคงทน สีอ่อนๆ เช่น ถั่วงอก น้ำเต้า ฟักแฟง  กินแล้วชุ่มคอไม่ระคายเคือง  ผักบุ้ง  ผักหวาน  บวบ  แตงต่างๆ  มะละกอดิบ  สายบัว หยวกกล้วย  กล้วยดิบ หัวปลี  ยอดฟักทั้งหลาย  ดอก ยอดและฝักมะรุม  หญ้าปักกิ่ง  มะเขือเทศ  กะหล่ำดอก  บร็อกโคลี่  กวางตุ้ง  ผักกาดขาว  หัวไขเท้า  ผักกาดทั้งหลาย  ใบเตย  รางจืด  ดอกขจร  ปวยเล้ง  ข้าวโพด  ดอกแค  ย่านาง  ใบมะขาม  ผักเหลียง  กระเจี๊ยบเขียว  มะเขือเปราะ  มะเขือยาว  มะม่วงดิบ(ไม่เปรี้ยวจัด)  ผักที่รสออกขม เช่น ใบบัวบก  มะเขือพวง  มะระจีน  มะระขี้นก  สะเดา  ผักอื่นที่มีรสออกขมเป็นผักฤทธิ์ร้อนที่มีฤทธิ์ในการดับร้อน  กินแต่พอดีตามที่ร่างกายรู้สึกเบาสบาย  ถ้ามากเกินไปก็มีโอกาสไม่สบายเนื้อตัวได้เช่นกัน   ส่วนพืชผักที่มีรสฝาดและเปรี้ยวจัด เช่น ตะลิงปลิง  มะปรางดิบ  มะขามป้อม  แม้จะมีฤทธิ์เย็น  แต่ถ้ากินมากเกินอาจตีกลับเป็นฤทธิ์ร้อนได้เช่นกัน  กลุ่มผลไม้ฤทธิ์เย็นได้แก่ มังคุด มะยม แตงโม แคนตาลูป สับปะรด ส้มโอ ส้มเช้ง กล้วยน้ำว้า(เพิ่งสุก) กล้วยหักมุก แก้วมังกร กระท้อน พุทรา สมอไทย ชมพู่ มะดัน มะขามดิบ น้ำมะนาว น้ำมะพร้าว แอปเปิ้ล สาลี่ ลางสาด สตรอเบอรี่ ลูกไหน ลูกพรุน บลูเบอรี่ ลูกฟิกส์(มะเดื่อฝรั่ง) บ๊วย แอปพริคอต เนคตาลิน
            การกินเพื่อถนอมเซลล์สำหรับผลไม้นั้น ให้กินผลไม้รสเปรี้ยวก่อนแล้วจึงตามด้วยผลไม้หวาน  เพื่อชะลอการดูดซึมน้ำตาลจากผลไม้หวานให้ค่อยๆ ซึมเข้ากระแสเลือดแต่พอดี  น้ำตาลในผลไม้ก็คือ น้ำตาลทั่วๆ ไปที่เรายังต้องระวังจำกัดปริมาณ   กลุ่มคาร์โบไฮเดรตฤทธิ์เย็น ได้แก่ เส้นขาวทั้งหลายถ้าให้ดีต้องเป็นเส้นที่ปราศจากน้ำมัน  วุ้นเส้น  ข้าวกล้อง  แป้งข้าวเหนียว แป้งข้าวเจ้า แป้งข้าวสาลี
            อาหารกลุ่มนี้มีฤทธิ์เย็น ให้พลังงานความร้อนน้อย  ดูดซึมเร็ว  ร่างกายใช้ได้เร็วแต่ก็หมดเร็วเช่นกันเพราะเป็นกลุ่มอาหารที่ไม่ได้สารอาหารจำเป็นมากมาย  ดังนั้นในขบวนการสันดาปเพื่อเป็นพลังงานจึงต้องดึงเอาวิตามินแร่ธาตุอื่นในร่างกายมาใช้ร่วม   การกินอาหารแต่ประเภทนี้ไปนานๆ ร่างกายก็จะขาดวิตามิน แร่ธาตุและเส้นใยอาหาร  ฉะนั้นเมื่อร่างกายคลายร้อน ผ่อนโรคแล้ว  ควรกินข้าวซ้อมมือหรือข้าวกล้อง  วุ้นเส้นไม่ขัดขาว  เส้นก๋วยเตี๋ยวหรือขนมจีนจากแป้งข้าวกล้องเพราะร่างกายจะได้ทั้งเส้นใยอาหารและสารอาหารมาก  ส่วนน้ำตาลนั้นเราได้อยู่ตลอดจากผลไม้และอาหารโดยทั่วไปแล้ว  ซึ่งร่างกายเราต้องการเพียง 5 ช้อนชาต่อวันเท่านั้น
             โปรตีนมีคุณสมบัติที่ร่างกายนำไปแปลงเป็นไกลโคเจนเก็บไว้เป็นพลังงานสำรองส่วนหนึ่ง  อีกส่วนทำหน้าที่ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของเนื้อเยื่อ  การย่อยโปรตีนจะใช้พลังงานในการสันดาปสูงมากจึงทำให้มีฤทธิ์ร้อนเป็นส่วนใหญ่  เฉพาะเห็ดและถั่วบางชนิดเท่านั้นที่ให้ฤทธิ์เย็น คือ ถั่วขาว ถั่วเขียว ถั่วทอง ถั่วเหลือง เห็ดฟาง เห็ดนางฟ้า เห็ดหูหนูขาวและดำ เห็ดลม เห็ดขอนขาว  รวมทั้งผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลืองเช่น เต้าหู้ทุกชนิด น้ำเต้าหู้(รวมทั้งเครื่องด้วย) ฟองเต้าหู้  นอกจากข้างต้นแล้วยังมี ลูกสำรอง น้ำนมข้าวโพด น้ำเก๊กฮวย น้ำใบเตย   เครื่องปรุงก็ต้องสดจากธรรมชาติตามฤดูกาลให้มากที่สุด  มะนาว ส้มจี๊ด ส้มซ่า มะกรูด มะขามเปียก มะขามอ่อน เกลือสมุทร ซีอิ๊วอนุโลมเฉพาะน้ำแรก(สูตร 1) และใช้ร่วมกับเกลือ   นอกจากนี้ควรใส่ใจการล้างสารเคมีที่ติดมากับผักผลไม้  การปรุงใช้ไฟอ่อนถึงปานกลางให้สุกพอดีไม่เปื่อยหรือเละ  ไม่ควรอุ่นซ้ำๆ  เป็นการปรุงขั้นตอนเดียว  ไม่ใช่ทอดแล้วนำไปผัดหรือต้มแล้วผัด   4 ประการหลังนี้จะทำให้กลายเป็นอาหารฤทธิ์ร้อนไป
             การกินอาหารฤทธิ์เย็นเพื่อความสมดุลของร่างกายยังมีประโยชน์อีกคือ
             - สามารถขับสารพิษที่สะสมในร่างกายมานานแสนนานออกไปได้
             - สามารถซ่อมบำรุงอวัยวะต่างๆ ที่ชำรุดทรุดโทรมจากความร้อนและสภาวะแวดล้อมรอบตัว
             - สามารถดึงความเป็นหนุ่มสาวกลับมาให้เราได้ด้วยอาการเบากาย มีกำลังวังชา รู้สึกแข็งแรงและสดชื่น
             - สามารถเยียวยารักษาโรคต่างๆ ที่ฝังอยู่ในร่างกาย ทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัวอีกหลายอาการ
             - ทำให้เลือดอยู่ในสภาวะด่างอ่อนๆ ทำให้เลือดมีประสิทธิภาพในการบำรุงร่างกาย รักษาและป้องกันโรค ขับพิษในร่างกายทั้งที่มาจากอาหาร จากอารมณ์ จากซากเซลล์และจุลินทรีย์ที่ตายแล้วออกจากระบบต่างๆ ของร่างกาย 
            นอกจากนี้ควรเคี้ยวอาหารให้ละเอียดก่อนกลืนเพื่อลดภาระในการย่อยของร่างกาย  และร่างกายยังดูดซึมสารอาหารไปใช้ได้อย่างเต็มที่และรวดเร็ว  
            การดื่มน้ำเช่นกัน การดื่มน้ำที่ดีควรดื่มก่อนกินอาหารและหลังอาหารไปแล้ว 1/2-2 ชั่วโมง  เพราะเมื่อกินอาหารเสร็จร่างกายต้องการธาตุไฟ(ความร้อน) เพื่อย่อยอาหาร  ต้องการความเข้มข้นของน้ำย่อย  ต้องการช่องว่างสำหรับปราณหรือเอนไซม์ทำการย่อย   การดื่มน้ำระหว่างมื้อที่เรียกว่าข้าวคำน้ำคำหรือดื่มปริมาณเป็นแก้วหลังอาหารทันทีจะทำให้น้ำย่อยเจือจาง  น้ำมีฤทธิ์เย็นไปลดธาตุไฟที่กำลังย่อยอาหารทำให้ย่อยได้ไม่เต็มที่  สร้างภาระให้ร่างกายทำให้อึดอัดอีกนาน  ถ้ากระหายน้ำจริงๆ ควรดื่มก่อนมื้ออาหาร   ถ้าเกิดจากอาการไม่สบายหรืออาหารรสจัดระหว่างมื้ออาจจะแค่จิบแล้วเว้นช่วงครึ่งชั่วโมงไปแล้วค่อยดื่มเพิ่ม   
            น้ำดื่มที่ดีต้องเป็นน้ำอุณหภูมิห้องหรือเย็นเล็กน้อยจากตู้เย็น  ไม่ใช่เย็นเจี๊ยบจากน้ำแข็ง  ความเย็นที่เกินพอดีของร่างกายส่งผลร้ายให้ร่างกายยิ่งร้อนมากขึ้น  และน้ำที่ดีที่สุดต้องไม่ผ่านไฟ  รองลงมาเป็นน้ำคั้นสมุนไพรฤทธิ์เย็น  และน้ำต้มสมุนไพรฤทธิ์เย็นที่ต้มแต่พอดีด้วยไฟกลางค่อนข้างอ่อน
            ลำดับของการกินอาหารนั้นมีความสำคัญต่อสุขภาพอย่างมาก คือ กินอาหารที่ย่อยง่ายไปสู่อาหารที่ย่อยยากกว่า  อาหารที่ย่อยง่ายร่างกายจะดูดซึมได้เร็ว สารอาหารเข้ากระแสเลือดได้เร็ว เป็นการกระตุ้นหรือวอร์มอัพให้ร่างกายได้ตื่นตัวเพื่อทำงานในทุกระบบทุกอวัยวะ  โดยเฉพาะกระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก ตับ ตับอ่อน เป็นต้น  เป็นการถนอมเซลล์  ลดภาระของกระเพาะอาหาร  ระบบย่อยทำงานอย่างมีประสิทธิภาพและทำให้กินได้อย่างปริมาณพอประมาณ  ลำดับการย่อยง่ายไปยากมีดังนี้
             1. น้ำ
             2. น้ำคลอโรฟิลล์ จากธรรมชาติใหม่สด  คั้นจากผักสดฤทธิ์เย็นทั้งหลาย เช่น ใบย่านาง ใบเตย ใบบัวบก หญ้าปักกิ่ง เป็นต้น  
             3. ผลไม้สด มีเทคนิคเพื่อสุขภาพคือ กินผลไม้เปรี้ยวอมหวานก่อนจึงตามด้วยผลไม้รสหวาน
             4. ผักสด มีเส้นใยอาหารมากกว่าผลไม้มากทั้งผักสดและผักปรุงสุก
             5. ข้าวและกับข้าว
             6. ถั่วต้ม
             7. แกงจืด มีภาวะการย่อยเช่นเดียวกับกับข้าวแต่เพราะมีน้ำเยอะและผ่านไฟนานกว่าจึงเหมาะกับการปิดท้ายหากอยากซดน้ำแกงให้คล่องคอขณะกินข้าว  แต่กรณีร้อนอบอ้าวอาจซดน้ำแกงก่อนกินข้าวก็ได้
             คำแนะนำเพิ่มเติมสำหรับผู้ที่ต้องการสัมผัสผลจากการกินอาหารฤทธิ์เย็น  ในคนปกติ ควรกินให้ได้ 3-5 วันติดต่อกันในช่วงเริ่มต้น  เพราะร่างกายจะมีปฏิกิริยากับอาหารฤทธิ์เย็นภายใน 1-3 วัน  จากนั้นก็หย่อนผ่อนตามสภาพจิตและความสบายของกาย  อาจกินเป็นอาหารฤทธิ์เย็นวันเว้นวัน หรือมื้อเว้นมื้อตามต้องการ   ส่วนคนป่วยที่มีอาการจากความร้อนในร่างกายมากเกินหรือธาตุไฟกำเริบนั้น ควรกินมากมื้อขึ้นจนรู้สึกสบายกายมากขึ้น  พยายามเคร่งครัดและกินตามลำดับที่แนะนำ  มื้อเย็นควรงดโปรตีนและไขมัน  หากงดมื้อเย็นไม่ได้ในกินน้อยๆ เบาๆ  อย่านอนดึก  ตื่นแต่เช้า  ออกกำลังสม่ำเสมอ   ระยะเวลากินที่ได้ผลต่อการบำบัดผ่อนโรค ทุเลาอาการอย่างน้อย 3 เดือน  ซึ่งเซลล์ต่างๆ ตายทุกวัน เกิดทุกวัน  เมื่อเวลาผ่านไปเป็นเดือนก็จะมีเซลล์ที่เกิดใหม่ที่แข็งแรงด้วยอาหารฤทธิ์เย็นจำนวนมาก  ทำให้ร่างกายแข็งแรงขึ้น
             การอดกลั้นการกินอาหารที่อยากมากๆ ก่อให้เกิดความตึงเครียดต่อจิตใจได้  ฉะนั้นต้องไม่เป็นการฝืนใจนัก  ให้กินตามใจปากเสียบ้าง เพราะว่า
    "ความเครียดของจิตใจก่อพิษร้าย
                                                 มากกว่าพิษของอาหารแสลง"
            นี่เป็นเพียงความรู้บางส่วนที่ได้จากการหาทางปรับตัวกับอาการร้อนสุดๆ ในเดือนที่ร้อนที่สุดขณะนี้ผู้สนใจอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก
           "อาหารฤทธิ์เย็น" แนวธรรมชาิติบำบัดปรับสมดุล รักษาโรค  สำนักพิมพ์แสงแดด


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

 
Plantilla Minima modificada por Urworstenemy