Come and enjoy lovely coffee shop and restaurant with great breeze of Chao Phraya River plus lush green garden,near Rama V bridge and Nonthaburi Pier ร้านกาแฟ เบเกอรี่ อาหารกลางวัน ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ช่วงสะพานพระราม5 และท่าน้ำนนท์ บรรยากาศสไตล์บ้านสวน ชมวิวรับลมแม่น้ำ

วันจันทร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

บำรุง รักษา ดูแลไตกันเถอะ

               ไต จัดว่าเป็นอวัยวะที่สำคัญมากในร่างกายของเรา  ไตทำหน้าที่กรองโลหิตที่หัวใจส่งมาและของเสียเพื่อขับออกทางปัสสาวะ  เปรียบไปคล้ายกับลำไส้ใหญ่ที่ทำหน้าที่ขับของเสียในรูปอุจจาระ  ศาสตร์ตะวันออกบอกว่าไตทำหน้าที่รักษาความสมดุลของธาตุน้ำในร่างกายด้วย  ลองนึกดูว่าถ้าเกิดไตไม่ยอมทำงานขึ้นมา หรือที่หมอเรียกว่าไตวายหรือไตล้มเหลวนั้นจะน่ากลัวแค่ไหน  เพราะร่างกายไม่สามารถขับของเสียออกทางปัสสาวะได้  ทำให้มีอาการบวมไปทั่วตัวและระบบต่าง ๆ ในร่างกายรวนไปตาม ๆ กัน  แล้วเจ้าอาการไตวายที่ว่านี้ หนทางเยียวยาเท่าที่มีอยู่ในเวลานี้คือ การล้างไตและการผ่าตัดเปลี่ยนไตซึ่งค่าใช้จ่ายสูงมาก  คนที่เป็นไตวายจึงเป็นผู้ที่น่าเห็นใจมาก  ไตวายนั้นไม่ใช่ว่าปุบปับจะเป็นกันง่าย ๆ  มักเป็นอาการแทรกซ้อนของคนที่เป็นโรคเรื้อรังเช่น เบาหวาน โรคเกาต์ ความดันสูง ฯลฯ  พูดง่าย ๆ คือเป็นโรคเรื้อรังมานานจนสุขภาพทรุดโทรมย่ำแย่เต็มที
               ทางเลือกที่ดีที่สุดในการหลีกเลี่ยงภาวะดังกล่าวอยู่ที่การดูแลเอาใจใส่ตัวเราและครอบครัวให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี  อย่าให้เป็นโรคเรื้อรังเพื่อจะได้ไม่ลุกลามถึงไตจนทำให้ไตวาย  หันมาใส่ใจดูแลไตและระบบทางเดินปัสสาวะให้ทำงานเป็นปกติไปได้นาน ๆ  หลีกเลี่ยงนิสัยการกินและดื่มที่ไม่ถูกต้องที่จะทำลายไตและระบบทางเดินปัสสาวะ

วิธีปฏิบัติทั่วไปที่จะช่วยให้อวัยวะเล็กๆ รูปร่างคล้ายถั่วดำอยู่ในสภาพดีคู่กับเราไปนานๆ

    - ดื่มน้ำในปริมาณที่เพียงพอต่อร่างกาย ไม่มากหรือน้อยเกินไป  
     - ไม่ควรมีเพศสัมพันธ์มากเกินไป  ศาสตร์ตะวันออกถือว่าไตมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับระบบสืบพันธุ์  ถ้าหักโหมเกินไปไตก็ถูกกระทบกระเทือนไปด้วย
     - ลดหรือหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะทำให้ร่างกายเสื่อมโทรม
     - ไม่กินอาหารรสเค็มนัก ลดอาหารประเภทเนื้อ  ปกติปัสสาวะจะมีสารยูเรียและโซเดียมคลอไรด์ละลายอยู่ถึง 90%  ไตใช้แรงงานมากในการขับสองสิ่งนี้ออกจากร่างกายซึ่งทำให้ไตต้องทำงานหนัก  ยูเรียเกิดจากการเผาผลาญโปรตีนในร่างกาย  ยิ่งกินอาหารเนื้อปริมาณมากหรือปรุงรสอาหารด้วยซอสและซีอิ๊วสารพัดอย่าง(ซึ่งมีผงชูรส สารกันบูดและสารแต่งสีแต่งกลิ่น) รวมถึงพริกน้ำปลาและเครื่องปรุงก๋วยเตี๋ยวที่วางประจำโต๊ะ  ไตต้องทำงานหนักมากเพื่อขับของเสียเหล่านี้  ทางปฏิบัติคือ พยายามลดการปรุงรสอาหารลงเรื่อย ๆ จนเกิดความเคยชินที่จะไม่ค่อยปรุงรสชาติอาหาร คือกินจืด ๆ เข้าไว้  อาจต้องใช้หลักพุทธธรรมช่วยบ้างในการลด ละ เลิก
     - ไม่ควรกินยาขับปัสสาวะ ถ้าจำเป็นต้องอยู่ในคำแนะนำดูแลของแพทย์
     - การใช้ยาปฏิชีวนะนาน ๆ ทำให้ไตทำงานหนักขึ้น
     - การเดินทางไกลมาก ๆ หรือสมบุกสมบันไกล ๆ ติดต่อกันนานทำให้ไตและอวัยวะภายในได้รับการกระทบกระเทือน  ต้องดูความพอดีและหาทางลดแรงกระแทก
     - ไม่ควรอั้นปัสสาวะหรือออกแรงเบ่งปัสสาวะมากเกินไป
     - สมุนไพรเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับการบำรุงไตและทางเดินปัสสาวะเช่น โคกกระสุน Tribulis terrestris(ตำรับอินเดีย) ยังช่วยส่งเสริมระบบสืบพันธุ์เพศชายด้วย ใช้โคกกระสุนปริมาณ 1 แก้วแช่ในน้ำเดือด 3 แก้วปิดฝาจนเย็นแล้วดื่ม   ผักโขมหินมีสรรพคุณและวิธีใช้เช่นเดียวกัน  ส่วนรากสามสิบ ตามตำรับอินเดียถือเป็นสมุนไพรบำรุงสตรีโดยเฉพาะ  ใช้ผงรากสามสิบประมาณ 1 ช้อนชาต้มกับนม 1 แก้ว อาจปรุงน้ำตาลเล็กน้อยดื่มอุ่น ๆ ก่อนนอน
               หลักและตัวอย่างอาหารสำหรับผู้ป่วยโรคไต
        1.ในโรคไตอักเสบเฉียบพลัน  ต้องพยายามให้ไตได้พักการทำงานเกี่ยวกับการขับถ่ายสารต่าง ๆ  ในขณะที่อาหารต้องให้พลังงานเพียงพอ  ต้องมีสารอาหารพวกโปรตีนต่ำหรืองดโปรตีนไปในขณะที่อาการรุนแรง  จำกัดเกลือโซเดียมหรือลด หรืองดรสเค็ม  ถ้ามีอาการบวมหรือมีความดันโลหิตสูงอาจต้องจำกัดน้ำ
        2.โรคไตอักเสบเรื้อรัง  การให้โปรตีนเป็นไปตามระยะของโรค  ถ้าสูญเสียแอลบูมินซึ่งเป็นโปรตีนไปทางปัสสาวะมากก็ต้องให้โปรตีนสูงขึ้นจะช่วยลดอาการบวมได้
        3.การให้สารอาหารที่มีโปรตีนต่ำช่วยให้ไตได้พักผ่อนเพราะไม่ต้องขับสารยูเรียการจากเผาผลาญโปรตีน
        4.ให้อาหารที่มีเกลือโซเดียมต่ำเพื่อช่วยลดการบวม ลดความดันโลหิตและลดการทำงานของไตไม่ให้หนักเกินไป
       ตัวอย่างรายการอาหารใน 1 วัน
      มื้อเช้า 
      - น้ำผลไม้คั้นสด 1 แก้ว
      - ผลไม้ 1 จานเล็ก
      - โจ๊กข้าวกล้องใส่สาหร่ายและเห็ดหอมแห้ง  ไม่ปรุงรสหรือใส่ซีอิ๊วขาว 1/4-1/2 ช้อนชาต่อถ้วย  โรยต้นหอมผักชีและพริกไทยป่น
      มื้อกลางวัน
อาหารหลักควรเป็นมังสวิรัติ  ถ้าค่าของแอลบูมินต่ำควรเสริมพวกเต้าหู้ นมถั่วเหลือง
      - น้ำผลไม้หรือน้ำ ขึ้นอยู่กับมีอาการบวมน้ำอยู่หรือไม่  ถ้ามีก็ต้องตามแพทย์สั่ง
      - สลัดผักสดกับน้ำสลัดซึ่งปรุงด้วย น้ำส้มเขียวหวานคั้น น้ำผึ้ง เกลือโพแทสเซียมเล็กน้อยและมัสตาร์ดที่ผสมแล้วหรือน้ำส้ม 1 ถ้วยตวง ชิมรสไม่ให้ออกเค็ม
      - ข้าวอบเผือก
      - ใช้ผลไม้จานเล็กเป็นของว่างและแทนขนม
     มื้อเย็น
      - ข้าวกล้องสุก 1 ทัพพี
      - แกงจืดใบตำลึงกับเห็ดฟาง
      - ผัดพริกขิงถั่วฝักยาวหรือถั่วแขก

ความรู้แบ่งปัน เรียบเรียงจากคอลัมน์ สมุนไพรเพื่อสุขภาพ โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเอง มูลนิธิสุขภาพไทย  และคอลัมน์ กินด้วยปัญญา พ.ญ.จิรพรรณ  มัธยมจันทร์  (มติชนสุดสัปดาห์)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

 
Plantilla Minima modificada por Urworstenemy